วันนี้ (26 เม.ย.2564) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวกรณีการตรวจ COVID-19 คลินิกห้องปฏิบัติการเอกชนว่า ขณะนี้มีคลินิกตรวจ COVID-19 ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 279 แห่ง ภาครัฐ 176 แห่งเอกชน 103 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.และปริมณฑล 109 แห่ง
โดยพบว่ามีคลิกเอกชนที่ประชาชนนิยมไปตรวจ 14 แห่ง และจำนวนนี้มี 11 แห่งมีคู่สัญญากับสถานพยาบาลแล้ว ส่วนอีก 3 แห่งกำลังดำเนินการ เพื่อหลักประกันให้ประชาชนว่า หากพบติดชื้อ COVID-19 จะมีโรงพยาบาลรับส่งต่อ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยออกประกาศของ สบส.เกี่ยวกับแนวทางให้คลินิกต่างๆ ดำเนินการ สรุปคือ ก่อนจะตรวจคนไข้สงสัยป่วย COVID-19 ต้องเป็นคลินิกที่ผ่านการรับรอง และต้องให้คำแนะ นำประชาชนอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตรวจ เมื่อพบว่าผลบวก ต้องรีบแจ้งประชาชน และแจ้งหน่วยควบคุมโรคทันทีภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อจะได้ควบคุมโรคได้ และต้องแจ้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อลงข้อมูลในระบบ
นอกจากนี้ ในประกาศ สบส.ใหม่ได้ระบุว่าแล็บทุกแห่ง ต้องมีข้อสัญญากับสถานพยาบาล เพื่อส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้คนไข้ได้ หากเตียงเต็มก็ต้องเร่งประสานเตียงต่อ แต่หากไม่ได้ก็ต้องรายงานต่อผู้อนุญาตแต่ละพื้นที่
ลงดาบ 12 สถานพยาบาลเอกชนถูกร้องเรียน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนจากการให้บริการตรวจรักษาโรค COVID- 19 ในสถานพยาบาลเอกชน 12 แห่ง ส่วนใหญ่พบปัญหา 3 ประเด็นคือ ไม่ส่งต่อผู้ป่วยหลังพบเชื้อ ไม่พบรายงานผู้ป่วยในระบบของกรมควบคุมโรค หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโฆษณาเรื่องการตรวจโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมดได้สั่งให้แก้ไขปรับปรุง และระงับการกระทำดังกล่าวแล้ว หากไม่ดำเนินการปรับปรุงก็จะมีการพักใช้ หรือยุติการตรวจ COVID-19 ระงับการโฆษณา จนถึงการบังคับใช้ทั้งโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: