กระแสข่าวลือ-ข่าวปลอม ซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 อินโดนีเซีย

ต่างประเทศ
20 ก.ค. 64
19:03
3,361
Logo Thai PBS
กระแสข่าวลือ-ข่าวปลอม ซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 อินโดนีเซีย
สถานการณ์ COVID-19 ในอินโดนีเซียนอกจากจะย่ำแย่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นยังตอกย้ำการระบาด คือปัญหาข่าวลือและข่าวปลอม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความสิ้นหวังผลักดันให้คนทำอะไรที่ไม่เคยทำ หรือเชื่อในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล

วันนี้ (20 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาข่าวปลอมและข่าวลือเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มพบการระบาดของ COVID-19 ซึ่งขณะนี้ "อินโดนีเซีย" กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด ปัญหานี้จึงพบได้เป็นเงาตามตัว บางกระแสไม่มีที่มาชัดเจน แต่บางเรื่องก็เกิดจากการให้ข้อมูลผิดพลาดหรือคลุมเครือ

สิ่งที่เป็นกระแสข่าวปลอมในอินโดนีเซียขณะนี้ เริ่มจากของที่หาได้ง่ายๆ อย่างนมและมะพร้าวอ่อน โดยนมสเตอริไลซ์ยี่ห้อหนึ่งราคาขึ้นมาจากเดิม 5 เท่า เพราะมีคนแห่ไปแย่งกันซื้อ เนื่องจากมีข่าวว่าดื่มแล้วช่วยเพิ่มแอนติบอดีต้าน COVID-19 ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

เช่นเดียวกับมะพร้าวอ่อน ที่ลือกันว่าเสริมภูมิต้านทาน จากราคาขายปกติประมาณลูกละ 27 บาท เพิ่มไปเป็นเกือบ 70 บาท อีกทั้งยังเริ่มหายาก เพราะมะพร้าวโตไม่ทันขาย

สองอย่างนี้อาจดูไม่เป็นอันตราย แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การดื่มน้ำมะพร้าวมากเกินไปอาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินพอดี ส่งผลกระทบต่อไต ส่วนนมดื่มมากไปอาจทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา ซึ่งทุกอย่างแม้แต่ของที่มีประโยชน์ ถ้ากินมากไปก็เป็นโทษได้

แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ ข่าวลือเกี่ยวกับยา หรือสารที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาอย่างกาวผึ้ง บางคนรู้จักในชื่อโพรโพลิส เป็นยาทางเลือกสำหรับช่วยรักษาแผลได้แบบอ่อนๆ แต่กลับมีการนำไปลือกันว่าใช้เสริมภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยใดๆ รองรับ

ส่วนไอเวอร์เมกตินที่เป็นยาฆ่าพยาธิ มีข่าวลือว่าอินโดนีเซียรับรองให้ใช้รักษา COVID-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกำลังศึกษาอยู่และยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด

ยาฆ่าพยาธิตัวดังกล่าว ก่อนหน้านี้มีข่าวในลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา ในอินเดียและกระจายมายังสื่อสังคมออนไลน์ในไทยด้วยเช่นกัน

ขณะนี้สำนักงานอาหารและยาอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการทดสอบใช้ยานี้ในโรงพยาบาล 8 แห่ง คาดว่าจะทราบผลในเดือน ต.ค. ซึ่งองค์การอนามัยโลกเตือนว่า ยานี้ควรใช้ในการดูแลของแพทย์ เช่นเดียวกับในไทยที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพเช่นกัน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นำยาไอเวอร์เมกตินไปทดลองเป็นทางเลือกในการรักษา COVID-19 แต่ยังไม่ทราบผล ซึ่งการซื้อหามาใช้เองโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ย่อมเสี่ยงอันตราย และนอกเหนือจากผลข้างเคียงจากการรับประทานยา หรืออาหารผิดๆ ตามข่าวปลอม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง