เปิดบันทึก "เมื่อฉันเป็นโควิด" กับชีวิต Home Isolation

สังคม
2 ส.ค. 64
15:24
16,386
Logo Thai PBS
เปิดบันทึก "เมื่อฉันเป็นโควิด" กับชีวิต Home Isolation
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เข้าระบบ HI จนอาการป่วยเริ่มดีขึ้น บอกเล่าประสบการณ์ปัญหารอคอยเตียงและพลังใจจากครอบครัว "สปสช." ระบุมีคนเข้าระบบรักษาตัว HI และ CI เกือบ 10,000 คนเร่งรองรับเพิ่มคาดตรวจ 250 ชุมชนยอดติดเชื้ออาจเพิ่มหลายหมื่นคน
รู้สึกช็อก กลัว กังวล ทำตัวไม่ถูก เครียดร้องไห้ ไม่กล้าบอกใครในครอบครัว

หทัยรัตน์ ลูกจ้างร้านขายผลไม้ในตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี เล่าว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ COVID-19 แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว เมื่อ 2 เดือนก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ที่พบการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ข้อสันนิษฐานแรกคาดว่า ตัวเองติดเชื้อ COVID-19 จากลูกจ้างในร้านด้วยกันเอง หลังจาก “นิ” น้องในร้าน เริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ ตัวร้อน

20 ก.ค.น้องในร้านไปตรวจหาเชื้อ ที่แลปเอกชนแถวปทุมธานี ผลออกมาเป็นบวก วินาทีนั้นคือ รู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงแล้ว เพราะคลุกคลีใกล้ชิดกันวันละ 8 ชั่วโมง ประกอบกับตัวเอง เริ่มมีอาการคล้ายกัน จึงตัดสินใจไปตรวจหาเชื้อที่แลปเอกชน

หทัยรัตน์บอกว่า กรณีของน้องในร้าน นำผลแลปไปที่โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่มีเตียง จนสุดท้ายโรงพยาบาล แห่งที่ 3 ยอมรับผลตรวจ และให้ยากลับมารักษาตัวที่บ้าน

แต่ด้วยข้อจำกัดของการเป็นลูกจ้าง หทัยรัตน์จึงตัดสินใจพาเธอมาอยู่ที่อพาร์ทเม้นท์ด้วยกัน เพื่อหวังช่วยดูแลอาการ

แต่ในที่สุดข่าวร้ายก็เดินทางมาถึงเธอ ในเวลา 16.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค.และเป็นเหตุผลเดียวที่ต้องบอกกับที่บ้านว่า เธอติดเชื้อ

ผลตรวจ RT-PCR บอกว่า Detected วินาทีนั้นรู้สึกช็อก มึนงง ร้องไห้กับสามี กลัวคนอื่นจะติดเชื้อ กลัวพี่สาว และหลานวัย 8 ขวบ เนื่องจากเพิ่งไปบ้านของพี่สาวคนที่ 2 นำผลไม้ไปแขวนไว้ที่หน้าบ้าน  

จะรอดหรือไม่ จะมีเตียงจากไหน?

22 ก.ค.หลังจากผลตรวจติดเชื้อ อาการเริ่มมาครบ ทั้งเป็นไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ท้องเสียหลายรอบ ไม่รู้จะเริ่มต้นกับตัวเองอย่างไร ตัดสินใจโทรหาพี่สาวคนโต และพี่สาวคนที่ 2 เพราะตอนนั้นรู้สึกกลัวมากขึ้น จากอาการที่เริ่มมา กลัวสารพัด

วันแรกหลังรู้ผลว่าติด พยายามติดต่อทุกเบอร์ ขอความช่วยเหลือทุกช่องทางที่มีอยู่ เพื่อหาเตียง แต่ทุกอย่างคว้าน้ำเหลว เพราะมีคนรอเตียงอยู่เป็นหมื่นคน ไม่ใช่แค่ร้อยคนเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก็ยังลงในระบบต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ เป็นแบบนี้อยู่ 2 วันจนเริ่มถอดใจ

เธอบอกว่า ส่วนพี่สาว ต่างก็รีบจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร ยาพาราเซตามอล น้ำดื่ม วิตามินซี กระชายขาวสกัด เจล แอลกออฮล์ ของที่ต้องใช้สำหรับคนป่วย รวมถึงอาหารมาฝากไว้ที่ รปภ.อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งบล็อกพื้นที่ไม่ให้เข้าออกจากห้องพัก ทันทีที่รู้ว่าเป็นคนติดเชื้อ

อ่านข่าวเพิ่ม โควิดติดเชื้อเพิ่ม 17,970 คน หายป่วยเพิ่มขึ้นในรอบ 7 วัน

ต้องเอาชีวิตรอด หากต้องแยกกักตัวในบ้าน

หทัยรัตน์เล่าต่อว่า แต่ข่าวร้ายก็ยังไม่หมด เมื่อรู้ว่า สามีที่อยู่ร่วมห้องเดียวกัน เป็นผู้ติดเชื้ออีกคน หลังจากไปตรวจที่สนามกีฬาธูปะเตมีย์ ด้วย ATK ผลเป็นบวก เจ้าหน้าที่จึงตรวจซ้ำและส่งตรวจแลป ผลก็ยืนยันว่า ติดเชื้อ ทำให้ทั้ง 2 คน ต้องใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวให้รอดจากโรคนี้ให้ได้

และนั่นทำให้ความพยายามในการหาเตียง สิ้นสุดลงในวันที่ 4 และหันหน้าเข้าสู่ระบบการรักษาตัว Home Isolation หลังจากพี่สาวเดินทางไปหาเตียงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี

ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ให้สแกนคิวอาร์โค้ด ที่ติดอยู่ด้านหน้าอาคาร แล้วกรอกข้อมูลไว้ แล้วเราจะติดต่อกลับไป เพราะตอนนี้พื้นที่ มีคนป่วยหลักพันคน ที่ต้องรอคิวในการประสานงานหาเตียง

หทัยรัตน์ บอกว่า วันต่อมาเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาหา สอบถามถึงอาการ เรามีค่าออกซิเจนตอนแรก 96 ยังไอเหนื่อยหอบ เจ้าหน้าที่จึงนัดให้ไปเอ็กซเรย์ปอด ในวันถัดมา ตอนนี้ (วันที่ 2 ส.ค.) ยังรอผลอยู่

เข้าสู่วันที่ 7-10 ระหว่างนี้มีข้อมูลจากพี่สาวหลั่งไหลเข้ามา ทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวในระหว่างรักษา การกินยาให้ครบ เนื่องจากช่วงแรกๆ สามีแอบไปให้คนซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อ และยาสมุนไพรยี่ห้อหนึ่งมากิน แต่กลับยิ่งทำให้อาการแย่ลง เพราะอาเจียนและเกิดอาการชาที่บริเวณใบหน้า ซึ่งหมอที่ให้คำปรึกษา บอกว่าให้หยุดยาทั้ง 2 ชนิดนั้นทันที

อบสมุนไพร-กินหอมจิ้มเกลือ

พยายามหาวิธีการรักษาแผนโบราณ คือ อบสมุนไพร คือข่า ตระไคร้ ขิง กระชาย ใบมะกรูด เรียกว่า ทำเหมือนต้มยำในหม้อไฟฟ้า จากนั้นสูดดมวันละ 2 เวลา ทำให้รู้สึกจมูกโล่งขึ้น กับอีกตัวคือกินหอมแดง จิ้มเกลือ ทำแบบนี้มาตั้งแต่วันที่ 5 หลังพบว่าติดเชื้อ จนถึงวันนี้รู้สึกดีขึ้น

เธอบอกว่า ช่วงวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค.อาการเริ่มดีขึ้น เจ้าหน้าที่โทรมาเยี่ยมไข้ และสอบถามอาการวันละ 2 ครั้ง เธอและสามียังแยกกักตัวเหมือนเดิม ไม่คิดถึงการหาเตียงอีกต่อไปแล้ว เพราะดูข่าวทุกวัน อยากให้เก็บไว้สำหรับคนอาการหนักกว่า

 

หทัยรัตน์ บอกว่า ไม่อยากให้คนป่วยสิ้นหวังกับระบบการรักษา ขอให้ประเมินอาการตัวเอง ยอมรับว่า ทุกคนมีความกลัวว่าอาการตัวเองจะหนักหรือไม่ คนรอบข้างจะเสี่ยงติดเชื้อไปกับเรา

ขอให้ตั้งสติก่อน เพื่อเอาตัวรอดกับโรค COVID-19 ซึ่งอาจจะไม่ง่ายสำหรับทุกคน เพราะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็ไม่ยากเกินไป สำหรับเธอนับถอยหลังอีกเพียง 2 วัน จะครบกำหนด 14 วันแล้ว

เหตุคนป่วยเพิ่มรายวัน-ผุด HI-CI เฉลี่ยเตียง

ข้อมูลจากวงเสวนา “เอาชีวิตรอดอย่างไร หากต้องแยกกักตัวในบ้าน ในชุมชน” นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลทำให้เตียงไม่เพียงพอ จึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาแบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)

การติดเชื้อ COVID-19 พบว่ากระจุกตัวในกทม. 80 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย และอีก 20 % มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ถึงปานกลางและส่วนหนึ่งหรือ 5 % อาการหนัก ส่วน 1 % อาการหนักมาก

 

สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อวันละมากกว่า 10,000 คน ทำให้มีปัญหาในการใช้เตียง สำหรับผู้ที่มีอาการหนัก (สีแดง) และสีเหลือง ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน

ถ้าปล่อยให้ภาวะนี้เกิดขึ้น จะเกิดปัญหาการจัดการเตียง จึงมีที่มาของคนที่ติดเชื้อไม่มีอาการ ให้รักษาตัวในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งที่บ้านและในชุมชน ซึ่งเตรียมความพร้อมทั้งหมด สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด เพื่อลดอาการหนัก ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต และลดการแพร่กระจายไปสู่ชุมชน

หลักการกักตัวของผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้าระบบกักตัวที่บ้านต้องเป็นกลุ่มอาการสีเขียว คือมีอาการน้อย สามารถกินยา และปฏิบัติตัวตามแนวทางที่หมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และสถานที่ต้องเหมาะสม

สถิติ 12,644 คนรอเข้าระบบรักษา 

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ภาพรวมมีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา 200,000 คนและในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่กทม. และการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ HI พื้นที่ (กทม.) มีจำนวนเคสสะสม 12,644 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 935 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยจากสายด่วน 1330 จุดตรวจเชิงรุก ATK

โดยอยู่ระหว่างการจับคู่ในการดูแลร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขตามที่อยู่ของผู้ป่วย 884 คน และจับคู่ได้แล้ว 11,760 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ Home Isolation จำนวน 5,578 คน และอีก 4,592 คนในระบบ HI (ข้อมูลสะสม 15 ก.ค.-2 ส.ค.)

ช่วงวันที่ 4-10 ส.ค.นี้สปสช.จะร่วมกับกทม.ออกตรวจเชิงรุกในชุมชนทั่วกทม.250 แห่งประเมินว่าตัวเลขผู้ได้รับการตรวจคัดกรองราว 200,000 คน น่าจะมีคนติดเชื้ออีก 20,000-30,000 คน

นพ.อภิชาติกล่าวต่อว่า ทุกอย่างจึงต้องเตรียมการ ถ้าจะเข้าระบบการรักษาที่บ้าน และการกักตัว ผ่านระบบคลินิกชุมชนอบอุ่นให้เร็วที่สุด ตั้งใจจะเก็บตก คนที่ตกค้างในชุมชนให้ได้มากที่สุด ให้คนป่วยได้รับยา ได้รับอาหาร และชุดในการดูแลตัวเองที่บ้านและชุมชนอย่างถูกต้อง ซึ่งในการออกตรวจครั้งนี้ จะทำชุดพลังใจอีก 10,000 ชุด ไปมอบให้กับผู้ที่ตรวจและมีผลติดเชื้อ

อ่านข่าวที่เกียวข้อง

ศบค.เพิ่มพื้นที่แดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ขยายล็อกดาวน์อีก 14 วัน ให้ร้านอาหารในห้างขายเดลิเวอรี่

"ชลบุรี" ติดเชื้อใหม่ 1,141 เสียชีวิต 6 บุคลากรติดเพิ่ม 12 คน

ย้อน 14 วัน "ติดเชื้อ-ป่วยหนัก-เสียชีวิต" ก่อนขยายล็อกดาวน์ 
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง