ตั้ง กก.สอบ "แพทย์หญิง" พาญาติฉีดไฟเซอร์

ภูมิภาค
16 ส.ค. 64
09:33
5,334
Logo Thai PBS
ตั้ง กก.สอบ "แพทย์หญิง" พาญาติฉีดไฟเซอร์
สสจ.นครศรีธรรมราช ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีแพทย์ นำญาติที่ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้ามาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่ สธ.ย้ำฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เฉพาะกลุ่มเป้าหมายก่อน สั่ง คกก.จังหวัดตรวจสอบหากมีข้อมูลจัดสรรให้กลุ่มอื่น

วันนี้ (16 ส.ค.2564) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเหตุการณ์แพทย์หญิง โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช นำญาติเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา 

ข้อมูลจากการสืบสวนผ่านผู้เกี่ยวข้อง ระบุว่า ในวันนั้นได้เบิกจ่ายวัคซีนจำนวน 11 ขวด จะมีผู้ได้รับวัคซีนซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่อำเภอที่เกิดเหตุ จำนวน 66 คน มารอรับ โดยวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวด ซึ่งจะสามารถฉีดให้กับบุคคลากรได้ 6 คน แต่มีเทคนิค คือ แต่ละขวดหากใช้วิธีการ Low Dead Space Syringe จะสามารถดึงวัคซีนฉีดได้ถึง 7 คน ซึ่งโดยปกติแต่ละขวดนั้นจะฉีดเฉพาะ 6 คน หรือ 6 โดสเท่านั้น ที่เหลือจะได้รับคำสั่งให้ทิ้ง ประเด็นนี้ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า โดยผู้ที่มารับวัคซีนซึ่งเป็นครอบครัวของแพทย์หญิงคนดังกล่าวนั้นได้รับวัคซีนจากส่วนที่เหลือ 1 คน คือพี่สาว

ขณะที่ นพ.จรัส พงษ์สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า จะดำเนินการทางวินัยในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยได้ลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนการที่แพทย์หญิงคนดังกล่าวจะลาออกนั้นขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสาร

 

ย้ำต้องฉีด "ไฟเซอร์" ตามกลุ่มเป้าหมาย  

ส่วนกรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าที่ จ.สุรินทร์ มีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้นอกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสายงาน Back office ไม่ใช่ด่านหน้า

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไฟเซอร์ เป็นไปตามจำนวนที่มีการสำรวจ และจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อจัดส่งให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามนโยบายในการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์กับกลุ่มเป้าหมายก่อน

ดังนั้นเมื่อมีข้อร้องเรียนว่า พบการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มนอกเป้าหมายที่ไม่ได้กำหนดไว้ ขอให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไม่ว่าจังหวัดใดก็ตามหากมีเรื่องลักษณะนี้ ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรวจสอบแล้ว ขอให้รวบรวมข้อมูลส่งเรื่องเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากตามนโยบายการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้ต้องเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด โดยต้องเน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดก่อน และกลุ่มเสี่ยง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 14 ส.ค.2564 เวลา 18.00 น. มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 23,476,869 โดส หากแยกรายละเอียดเข็มที่ 1 จำนวน 17,879,206 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 ส่วนผู้รับบริการที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีจำนวน 5,073,672 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

2. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง