กรณีการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โควตาของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตb อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา พบว่า ในจำนวน 144 รายชื่อ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
วันนี้ (18 ส.ค.2564) นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้วพบว่า มีการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้กับบุคคลโดยผิดเงื่อนไขจริง 3 คน ได้แก่ 1.ภรรยาของผอ.โรงพยาบาล 2.สามีของหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค และ 3.คนงานในร้านขายยาของเภสัชกร
เบื้องต้นผู้ถูกสอบสวนชี้แจงว่า เข้าใจว่าเป็นบุคลากรด่านหน้าเช่นกัน เพราะลักษณะงานใกล้ชิดเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ ถ้าเป็นเงื่อนไขถือว่าผิด เพราะวัคซีนที่เข้ามายังไม่ให้กับคลินิกและร้านขายยา
นพ.วิชาญ กล่าวว่า คนที่ตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ขึ้นกับคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง และคาดว่าจะดำเนินการให้รวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ แต่ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ หลักปฏิบัติของราชการ และให้โอกาสทุกฝ่ายได้ชี้แจง
หลังจากนี้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ส่งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาและวินิจฉัย ก่อนจะตัดสินลงโทษต่อไป
อ่านข่าวเพิ่ม สสจ.นครราชสีมา ตั้ง กก.สอบปมฉีด "ไฟเซอร์" ภรรยา ผอ.รพ.
เทียบ "ไฟเซอร์" วัคซีนสายล่อฟ้า
เมื่อถามว่า สสจ.มีแรงกดดันจากวีไอพีอยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ยอมรับว่าสังคมไทยมีการร้องขอ โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ขอเรียกว่าวัคซีนสายล่อฟ้า ขนาดฉีดพยาบาลด่านหน้า 200 คน หากได้แค่ 199 คน และอีก 1 คนไม่ได้ฉีดก็จะเกิดข้อกดดันหลายโรงพยาบาลก็จะบ่น
โจทย์ใหญ่เพราะวัคซีนมาน้อยและจัดสรรให้ได้ไม่ครบ แต่จัดลำดับให้กับคนที่เสี่ยงสูงสุดจนถึงต่ำสุด และแม้แต่ตัวเองที่เป็นประธานจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ก็ไม่ได้รับการฉีดเช่นเดียวกัน