หมอนิติเวช ถอดความหมาย "ใบรับรองการตาย"

อาชญากรรม
25 ส.ค. 64
14:19
5,318
Logo Thai PBS
หมอนิติเวช ถอดความหมาย "ใบรับรองการตาย"
หมอนิติเวช ถอดรหัสปม "หนังสือรับรองการตาย" คดีผู้ต้องหาเสียชีวิตในคดีอดีตผู้กำกับนครสวรรค์ หลังโลกออนไลน์ สงสัยลงใบรับรอง "พิษจากสารแอมเฟตามีน" สวนทางกับคลิปทรมานผู้ต้องหาคลุมถุงดำ ด้านไอลอว์ ระบุตายระหว่างถูกควบคุมตัวต้อง “ไต่สวนการตาย” โดยศาล

กลายเป็นอีกประเด็นร้อนในโซเชียล หลังคลิปที่คนโลกออนไลน์ติดแฮชแท็กว่า #ผู้กำกับโจ้ หลากประเด็นและหลายมิติเกี่ยวกับข้อสงสัยในการกระทำของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมพวกรวม 7 คนที่กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีทำร้ายร่างกายโดยการทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต

"พิษจากสารแอมเฟตามีน"

หนึ่งในประเด็นที่ถูกเผยแพร่และพูดถึงอย่างมาก ก็คือ เอกสารที่ถูกอ้างถึงว่าเป็นใบรับรองการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิต อ้างถึงต้นสังกัดที่ออกมาคือ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ และดูจะไปสอดคล้องกับกระแสข่าวที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ว่า เป็นการให้ข้อมูลเท็จมาจากตำรวจชุดที่ก่อเหตุ เพื่อให้การตายถูกบิดเบือน

นี่เป็นรูปเอกสารที่อ้างว่าเป็นหนังสือรับรองการตาย ลงวันที่ 6 ส.ค.2564 เป็นภาพเดียวที่ถูกเผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย อ้างถึงชื่อสกุลที่สอดคล้องกับผู้เสียชีวิต ในคดีผู้กำกับโจ้อ้างถึงโรคหรือภาวะ ที่ให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ คัดลอกลงในสาเหตุการตาย ในใบมรณบัตร สันนิษฐานว่า "พิษจากสารแอมเฟตามีน" ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แพทย์นิติเวช มีส่วนรู้เห็นกับตำรวจกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่

หนังสือรับรองการตาย" เป็นข้อสันนิษฐานการเสียชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย อธิบายว่า หนังสือรับรองการตาย มีไว้เพื่อเก็บสถิติการตาย ไม่เกี่ยวกับใบชันสูตรพลิกศพ ที่แพทย์ออกมาเพื่อให้ตำรวจใช้ทำคดี โดยถ้อยคำในสาเหตุ มาจากการซักประวัติ ร่วมกับการตรวจสอบสภาพศพ

นพ.สมิทธิ์ ยกตัวอย่างว่า แพทย์จะทำการผ่าศพในเบื้องต้น ที่ไม่ใช่การชันสูตร จะสันนิษฐานจากสิ่งที่เจอในร่างกาย โดยเรียกว่า เป็นข้อสันนิษฐานที่ดีที่สุด หากในภายหลังพบความเปลี่ยนแปลงสาเหตุการตาย จากการชันสูตร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายได้

เช่นเดียวกับ น.ต.นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย หัวหน้าแผนกนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ อธิบายว่า หนังสือรับรองการตาย เป็นเพียงข้อมูลขั้นต้นที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากรายงานการชันสูตรพลิกศพที่มีในภายหลังได้ เพราะผลตรวจชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ และผลตรวจทางห้องปฎิบัติพิษวิทยา ที่ออกทีหลังจะทำให้สรุปสาเหตุการตายได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่ม รพ.สวรรค์ประชารักษ์ แจงปมหนังสือรับรองการตายจากสารแอมเฟตามีน

พยาน-ผลชันสูตรสรุปหลักฐานตาย

การเขียนสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายโดยมีคำว่า น่าจะสงสัยว่า อาจจะ จึงสามารถเขียนได้ระหว่างรอผลตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ในกรณีที่มีประวัติเสพยาบ้า ผลตรวจคัดกรองสารพิษจากปัสสาวะพบผลบวกในสารกลุ่มเมทแอมเฟตามีน

การผ่าศพไม่เจอสิ่งผิดปกติหรือเจอแต่ไม่ชัดเจน ไม่มีประวัติจากการตรวจที่เกิดเหตุมาเพิ่มเติม ย่อมลงสาเหตุการตายว่า สันนิษฐานว่าพิษจากสารเมทแอมเฟตามีนไปก่อนได้ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน

การสรุปประเด็นสาเหตุการตาย ในทางนิติเวชศาสตร์ จะต้องได้รับข้อมูลจากทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ การออกตรวจสถานที่เกิดเหตุ การผ่าพิสูจน์ศพ และผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ ถ้าข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป การสรุปผลย่อมไม่ถูกต้องตามกันไปด้วย

ในประเทศไทยเป็นระบบตำรวจ พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลดังกล่าว จากนั้นก็จะใช้ดุลพินิจตามพยานหลักฐานกำหนดพฤติการณ์การตาย ว่าเป็นไปโดยสาเหตุธรรมชาติ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย หรือ เป็นอุบัติเหตุ

อ่านข่าวเพิ่ม นายกฯ สั่ง ผบ.ตร.ตรวจสอบปม "ผกก." คลุมถุงผู้ต้องหา

 

ไอลอว์ ชี้เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวต้องชันสูตรพลิกศพ

สอดคล้องกับข้อมูลของไอลอว์ ที่เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ ilaw.or.th ถึงกรณีเดียวกันว่า

เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง ชันสูตรพลิกศพ และ ไต่สวนการตาย

ไอลอว์ อธิบายไว้ว่า การชันสูตรพลิกศพ หมายถึง การตรวจดูศพภายนอก เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตาย การชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวน และแพทย์เป็นหลัก

สาเหตุที่เรียกว่าชันสูตรพลิกศพนั้น ก็เพราะต้องตรวจดูศพให้ทั่วทั้งสองด้านโดยต้องพลิกศพอีกด้านหนึ่งขึ้นดูด้วย ในการชันสูตรพลิกศพหากแพทย์เห็นว่าต้องผ่าศพเพื่อหาร่องรายสาเหตุของการตายก็สามารถสั่งให้ผ่า หรือแยกชิ้นส่วนของศพก็ได้

การไต่สวนการตาย หมายถึง การที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร การไต่สวนการตายเป็นขั้นตอนของพนักงานอัยการและศาลเป็นหลัก



ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการขั้นตอน และกรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายไว้ในมาตรา 148-156 โดยกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชันสูตรพลิกศพ มีดังต่อไปนี้

  • การตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  •  การตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

การชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น ทำร่วมกับแพทย์นิติเวช หากไม่มีแพทย์นิติเวช ก็ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าไม่มีแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้เป็นแพทย์ที่ตำแหน่งลดหลั่นลงไปตามมาตรา 150 วรรคหนึ่ง ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยก่อนการชันสูตรพลิกศพให้แจ้งญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบก่อนด้วย

เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ภายใน 7 วันให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ทำรายงานเป็นหนังสือแสดงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ระบุว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้

หากผลการชันสูตรพลิกศพพบว่า การตายไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพให้อัยการ และให้อัยการส่งสำนวนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

หากผลการชันสูตรพลิกศพ พบว่ามีการกระทำผิดอาญาเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดต่อไป

ภาพ:ไอลอว์

ภาพ:ไอลอว์

ภาพ:ไอลอว์

ตายระหว่างถูกควบคุมตัวต้อง “ไต่สวนการตาย” โดยศาล

นอกจากนี้ กรณีการตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ เช่น ตายจากการวิสามัญฆาตกรรม หรือการตายเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน เช่น ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ระหว่างอยู่ในห้องขังของตำรวจ หรือระหว่างถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ถือว่ามีเหตุให้สงสัยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นสาเหตุของการตายหรือไม่ จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นพิเศษ

การชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน นอกจากจะทำโดยแพทย์และพนักงานสอบสวนแล้ว ยังต้องให้มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอขึ้นไปเข้าร่วมด้วย

กรณีเช่นนี้ ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ใช่ผู้ทำรายงานเอง แต่เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการทำสำนวนและยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการ “ไต่สวนการตาย” โดยศาล และให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และระบุถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

เปิดขั้นตอนการไต่สวนโดยศาล 

ก่อนการไต่สวน ศาลต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดวันไต่สวน และต้องแจ้งให้ญาติของผู้ตายทราบ โดยญาติของผู้ตายจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาหรือนำส่งพยานหลักฐานอื่นเข้ามาร่วมในการไต่สวนก็ได้ ในกระบวนการการไต่สวน อัยการหรือญาติของผู้ตายจะนำพยานที่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นพฤติการณ์การตายเข้าเบิกความต่อศาล และศาลอาจเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบ จนกว่าศาลจะพอใจและทำคำสั่งได้

คำสั่งของศาลจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการตายนั้นต่อไป เช่น การเอาผิดผู้ที่ทำให้ตาย การจัดการมรดก  แต่การดำเนินคดีอื่นๆ ยังต้องอาศัยการนำสืบพยานหลักฐานต่างๆ มาประกอบด้วย ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับคำสั่งของศาลจากการไต่สวนการตาย

การไต่สวนการตายโดยศาล เป็นขั้นตอนสำหรับตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ว่ามีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบจนเป็นเหตุให้มีการตายเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5 จึงกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีการไต่สวนโดยศาล พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องทำสำนวนส่งให้ศาลโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะพอทราบถึงสาเหตุการตายได้แล้วก็ยังคงต้องให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่ง จะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ไม่ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอนุมัติหมายจับ "พ.ต.อ.ธิติสรรค์" พร้อมพวกรวม 7 คน

ด้งตำรวจยศ "พ.ต.อ." นครสวรรค์ปมรีดเงินคดียาเสพติด

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง