BTS ตัดตั๋วเดือน ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ซ้ำเติมวิกฤต

เศรษฐกิจ
2 ก.ย. 64
18:30
565
Logo Thai PBS
BTS ตัดตั๋วเดือน ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ซ้ำเติมวิกฤต
บีทีเอส ประกาศเปิดขายตั๋วโดยสารประเภท 30 วัน หรือตั๋วรายเดือน ซึ่งค่าโดยสารต่อเที่ยวจะถูกกว่าซื้อรายวัน ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ เท่านั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าบีทีเอสผลักดันภาระให้ผู้โดยสารซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ

วันนี้ (2 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส ทางเลือกการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และโปรโมชันที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนทำงานที่ต้องเดินทางไปกลับ คือตั๋วเดินทาง 30 วัน เพราะราคาต่อเที่ยวจะถูกลง จากการเดินทางต่อเที่ยวที่ไม่จำกัดสถานี หรือ ระยะทาง ยกเว้นส่วนต่อขยาย

ทันทีที่บีทีเอสประกาศสิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน ภายในเดือน ก.ย.นี้ แม้จะคงค่าโดยสารในเส้นทางสัมปทาน จากสถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16-44 บาท และบัตรผู้สูงอายุยังได้รับส่วนลดครึ่งราคา แต่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้โดยสาร

ผู้โดยสารหลายคนบอกว่า เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนเดินทางประมาณ 50 เที่ยว ประกาศดังกล่าว ทำให้ได้รับผลกระทบทันที เช่น หากเดินทางจากสถานีวุฒากาศ-สถานีหมอชิต จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 70 บาทต่อเที่ยว จากเดิม 50 บาท

เมื่อมาดูที่จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการบีทีเอส ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงประมาณร้อยละ 82.24 โดยปี 2562 ก่อนการระบาดมีผู้โดยสารประมาณ 734,000 คน ปี 2563 เหลือ 246,000 คน และล่าสุด ลดลงเหลือประมาณ 128,000 คน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยว่า ตั๋วเดินทาง 30 วัน เป็นโปรโมชันที่บีทีเอสทำขึ้นนานถึง 15 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากเดิมมีผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วเดินทาง 30 วัน ประมาณร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันมีการใช้งานเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนอนาคตจะมีโปรโมชันใดออกมาหรือไม่ ขอรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บีทีเอสปรับนโยบายที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนหน้านี้ มีประกาศห้ามส่งสิ่งของระหว่างกันในพื้นที่สถานีมาแล้ว

ขณะที่การปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฐานะการเงินของบีทีเอสเองที่อาจจะได้รับผลกระทบจากผู้โดยสารที่ลดลง ประกอบกับปัญหาหนี้สินที่กรุงเทพมหานครยังไม่ยอมจ่ายคืนอีกกว่า 30,000 ล้านบาทหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง