พิษโควิดแนวโน้ม "ฆ่าตัวตาย" แตะ 10 คนต่อแสนประชากร

สังคม
10 ก.ย. 64
18:24
751
Logo Thai PBS
 พิษโควิดแนวโน้ม "ฆ่าตัวตาย" แตะ 10 คนต่อแสนประชากร
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประเมินแนวโน้มอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มจากวิกฤติ COVID-19 ตัวเลขแตะ 10 คนต่อแสนประชากร เร่งล้อมคอกลดอัตราการสูญเสีย ห่วงซ้ำรอยวิฤตต้มยำกุ้ง

วันนี้ (10 ก.ย.2564) นพ.ณัฐกร จำปาทอง หัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ติดตามอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมา เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้มีความใกล้เคียงอัตราที่แท้จริงมากที่สุด เนื่องจากฐานข้อมูลเดิมที่จะอิงฐานข้อมูลมรณบัตร ซึ่งเป็นข้อมูลทางการและเป็นข้อเท็จจริง

แต่จากการวิจัยอย่างต่อเนื่อง พบว่าอัตราที่ปรากฏในมรณบัตรอาจน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น

ขณะนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ปรับการใช้ฐานข้อมูลใหม่เป็นระบบ 3 ฐาน ซึ่งเป็นการใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ประสานร่วมกับฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และฐานข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบฐานข้อมูลทั้ง 2 ระบบในปี 2561 2562 และ 2563

พบว่าในระบบฐานเดี่ยว (เดิม) มีอัตราเท่ากับ 6.32 6.73 และ 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปีตามลำดับ และในระบบ 3 ฐาน (ใหม่) มีอัตราเท่ากับ 8.81, 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากรต่อปี  

แนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มจากวิกฤติ COVID-19

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พบแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในปี 63-64  ทั้งจากอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจากวิกฤต COVID-19 และการปรับใช้ฐานข้อมูลใหม่ ถ้าเทียบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง พบว่าการฆ่าตัวตายหลังภาวะวิกฤตจะยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง 2-3 ปี จึงสามารถทำนายได้แม้อัตราผู้ป่วย COVID-19 จะลดลงเรื่อยๆ แต่มีโอกาสการฆ่าตัวตายสูงขึ้น

โดยปี 63-64 คาดว่าแตะที่ 10 คนต่อแสนประชากร 

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ เป้าหมายคือการลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประชากรไทย เช่น การเสริมสร้างความรอบรู้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจ เพิ่มความเข้มข้นด้านการคัดกรองและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เช่น ระบบการประเมินสุขภาพจิตผ่าน Mental Health Check in รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการดูแลรักษาและติดตามเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายซ้ำ  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง