"ชาวบ้านกุ่ม" โวยขอเปิดประตูระบายน้ำบางกุ้งลดน้ำท่วมบ้าน

ภัยพิบัติ
4 ต.ค. 64
17:01
3,031
Logo Thai PBS
"ชาวบ้านกุ่ม" โวยขอเปิดประตูระบายน้ำบางกุ้งลดน้ำท่วมบ้าน
ชาวบ้านกุ่ม จ.พระนครศรีอยุธยา รวมตัวประท้วงให้เปิดประตูระบายบางกุ้ง เพื่อลดน้ำท่วมบ้านถึงชั้น 2 ให้ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำบางแก้ว ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมปภ.สรุปกระทบ 32 จังหวัดคลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด

วันนี้ (4 ต.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถาน การณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ช่วงวันที่ 23 ก.ย.–4 ต.ค.ที่ผ่านมา รวม 32 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 201 อำเภอ 1,046 ตำบล 7,144 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 271,092 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 8 คน สูญหาย 1 คน

ชาวบางกุ้ง ขอเปิดประตูระบายน้ำลดน้ำท่วม

การผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังเป็นปัญหา และเป็นข้อถกเถียง ที่ชาวบ้านเรียกร้อง ให้กรมชลประทานเร่งผันน้ำลงสู่ทุ่งรับน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ของอ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ขอให้เปิดประตูระบายน้ำ

นายอาดูล สุนิธิ ชาวตำบลบ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า น้ำท่วมปีนี้วิกฤตมากกว่าปี 2554 น้ำท่วมมิดศรีษะแล้ว ระดับน้ำที่ท่วมสูง ไม่สามารถอยู่บนชั้นสองของบ้านได้แล้ว ทำให้ชาวบ้านถึงรวมตัวกันประท้วง ให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำบางกุ้ง เพื่อที่จะผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ แบ่งเบาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ที่ต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำเต็มทุกพื้นที่

 

ชาวบ้าน บอกอีกว่า น้ำท่วมขังชุมชน อ.บางบาล ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแทบมิดศรีษะ แต่ฝั่งของทุ่งนากลับไม่มีน้ำจนต้องประท้วงเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำสูงขึ้น เพื่อให้มวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่คลองบางหวาย ก่อนที่จะระบายลงสู่ทุ่งรับน้ำ หากระบายไปพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็คือ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

ปี 54 แค่แตะพื้น แต่ปีนี้เลยพื้นไปหัวเข่ากว่า เข้าบ้านไม่ได้ แทบตาย ถ้าปล่อยน้ำเข้าทุ่งน้ำจะเสมอตัว ชาวบ้านจะไม่เดือดร้อน แต่เขาไม่ยอมปล่อย ในทุ่งมีแต่หญ้าไม่มีน้ำ   

กรมชลประทาน พยามที่จะควบคุมน้ำในทุ่งบางแก้วให้สูงไม่เกิน 3.50 เมตร เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่อื่น ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 3.30 เมตร หลังจากที่มีการยกบานประตูขึ้น 1.50 เมตร   

ทำคันดินกั้นน้ำท่วมบ้านหมอ จ.สระบุรี

เช่นเดียวกับสภาพพื้นที่น้ำท่วม ในอ.หนองโดน จ.สระบุรี 1 ใน 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ กำแพงกั้นคลองชลประทานโครงการ R23 ที่อยู่ใน อ.บ้านหมอ พังจนน้ำทะลักไหลท่วมต่อเนื่อง เข้าตัวเมืองมาตั้งแต่ 2 วัน จากการสำรวจพบว่ามีหน่วยงานราชการ เช่นที่ว่าการอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีตำรวจ และศาสนสถาน บ้านเรือนประชาชน สถานีรถไฟ และพื้นที่เกษตร ถูกน้ำไหลท่วม

นอกจากนี้พบปัญหาน้ำท่วมไหลเอ่อขึ้นมาจากคลองสาขา ชัยนาท-ป่าสัก เอ่อท่วมผิวถนน และเป็นเส้นทางที่หลักที่เชื่อม ระหว่าง อ.หนองโดน จ.สระบุรี กับ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดเจ้าหน้าที่นำดินมาทำแนวคันกั้นน้ำบริเวณ ต.บางโขมด อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เป็นระยะทางกว่า 500 เมตร เพื่อบรรเทาผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16:05 น. เกิดน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสัก ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ม.11 ต.บ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ประชาชนหลายคนให้ข้อมูลน้ำหลากมาแบบไม่ทันตั้งตัว พื้นที่นี้ อยู่ติด แม่น้ำป่าสัก

เตรียมรับมือฝนระลอกใหม่ 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกในตอนนี้จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9% โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคกลางสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% เท่ากัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่ ช่วงวันที่ 24-26 ก.ย.ที่ผ่านมา 

ฝนตกหนักในพื้นที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะตกท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ทำให้น้ำ 4 เขื่อนหลักคือภูมิพล สิริกิติ์  แควน้อย และป่าสัก มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 12,832 ล้านลบ.ม.ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างบริเวณ จ.กำแพงเพชร และในพื้นที่ จ.ลำปาง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงขึ้น และน้ำส่วนหนึ่งที่มาจากพื้นที่ จ.ลำปาง ไหลลงสู่ลำน้ำแม่มอก และคลองแม่รำพันในเขตจ.สุโขทัย ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งขวาของแม่น้ำยมบริเวณ อ.เมืองสุโขทัย

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่าในลุ่มน้ำยม เพื่อดึงน้ำจากลำน้ำแม่มอก และคลองแม่รำพันให้ระบายลงสู่แม่น้ำยม พร้อมทั้งหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อช่วยลดผลกระทบกับปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่จ.สุโขทัยฝั่งตะวันตก รวมไปถึงช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง