ติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปิดช่องโหว่ปัญหามลพิษ

สิ่งแวดล้อม
9 ต.ค. 64
17:27
1,822
Logo Thai PBS
ติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปิดช่องโหว่ปัญหามลพิษ

ความล่าช้าในการแก้ปัญหามลพิษ ทั้งเรื่องการเร่งฟื้นฟูพื้นที่เพื่อหยุดการปนเปื้อนให้เร็วที่สุด และการเร่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ด้านหนึ่งเป็นผลจากจุดอ่อนของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับมานาน ทำให้หลายฝ่ายเสนอให้เร่งแก้ไขและติดดาบให้กับกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อปิดช่องโหว่นี้

ผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ ที่มีการพบขยะอุตสาหกรรมถูกลักลอบทิ้งที่บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี แม้ปัญหานี้จะตกเป็นข่าวซึ่งหมายความว่าจะต้องถูกจับตาจากสาธารณะ แต่ก็ไม่อาจการันตีว่า การแก้ไขปัญหาจะดำเนินการได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการเร่งเคลื่อนย้ายกองขยะพิษออกจากพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ และเร่งฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วโดยเร็ว เพราะจนถึงขณะนี้ (9 ต.ค.) ขยะพิษนี้ก็ยังถูกกองไว้ที่เดิม

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

กรณีปัญหาที่ จ.ลพบุรี สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า การเร่งขนย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษออกจากพื้นที่หรือดำเนินการใดๆ เพื่อหยุดการปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับโจทย์การสอบสวนหาผู้กระทำผิด แต่หลายกรณีการเร่งแก้โจทย์แรกกลับเป็นไปอย่างล่าช้า จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องออกมาร้องเรียนหลายครั้ง ไม่นับมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลา

การพยายามหากลไกทางกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องนี้ จึงเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงในเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง “ถึงเวลาติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือยัง?” (8 ต.ค.) โดยเนื้อหาในเวทีเป็นการวิพากษ์จุดอ่อนของระบบกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงข้อเสนอต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ปัจจุบันร่างฯ ฉบับแก้ไขยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เพิ่มอำนาจ ติดดาบให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต อาจารย์ประจำสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 จะกำหนดให้มีเจ้าภาพดำเนินการซึ่งทำให้ดูเหมือนจะมีความหวัง เช่น มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ในฐานะเจ้าภาพกำกับด้านนโยบาย หรือกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่มีอำนาจที่แท้จริง และทำให้ไม่มีใครเกรงกลัวหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างเมื่อเกิดปัญหามลพิษจากโรงงาน กฎหมายฉบับนี้ก็บอกว่ากรมโรงงานแก้ปัญหา เว้นแต่กรมโรงงานไม่ทำงานกรมควบคุมมลพิษค่อยไปดำเนินการต่อ ทำให้ในทางปฏิบัติ กรมควบคุมมลพิษเป็นเหมือนผู้ประสานงานมากกว่า ไม่มีอำนาจที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง อำนาจสั่งปิดสถานประกอบการก็ไม่มี

การเพิ่มอำนาจบังคับให้กับมาตรฐานมลพิษที่ออกตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ศ.ดร.อำนาจ เห็นว่าควรเกิดขึ้น เพราะแม้จะถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานกลาง แต่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่กำกับดูแลตามมาตรฐานนี้กลับไม่มีทั้งอำนาจบังคับและบทลงโทษหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่มาตรฐานที่ออกตามกฎหมายของหน่วยงานอื่น เช่น กฎหมายโรงงาน หรือกฎหมายควบคุมอาคาร ล้วนมีบทลงโทษหากฝ่าฝืน

ขณะที่ ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้ว่า ไม่ควรให้หน่วยงานอนุญาตเป็นผู้กำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การให้อำนาจกรมโรงงานดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงงานที่กรมโรงงานเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการเอง แต่ควรให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเข้าไปดำเนินการได้หากพบแหล่งกำเนิดมลพิษภายในพื้นที่โรงงาน

เป็นปัญหาเรื่อง Check and balance เพราะหลายเรื่องที่เกิดปัญหาแล้วหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ
ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ปัญหาประสิทธิภาพและความล่าช้าการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการติดตามคดีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ปัจจุบันการแก้ปัญหากำลังจะเข้าสู่แผนการฟื้นฟูลำห้วยระยะที่ 2 โดยการฟื้นฟูในระยะที่ 1 ใช้งบประมาณไปแล้ว 400 กว่าล้านบาท ซึ่งการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมากขนาดนี้ นายสุรชัย มองว่า สะท้อนถึงการไม่มีประสิทธิภาพในด้านการฟื้นฟูมลพิษ

โดยจากการศึกษาเปรียบเทียบกับเหตุการรั่วไหลของสารพิษจากเหมืองแร่สู่สิ่งแวดล้อม ที่รัฐบริติชโคลัมเบียประเทศแคนาดา พบว่า ที่นั่นให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเป็นเรื่องแรก โดยมีการสั่งการให้ผู้ประกอบการดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ และใช้เวลาเพียง 5 ปีก็สามารถฟื้นฟูพื้นที่ได้สำเร็จ ขณะที่กรณีคลิตี้ของประเทศไทย ผ่านมา 24 ปี ก็ยังฟื้นฟูไม่สำเร็จ

มันสะท้อนว่าเราไม่มีระบบการบริหารจัดการ ไม่มีกฎหมายที่เข้าไปแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ ไม่มีหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจสามารถเข้ามาดำเนินการได้โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งกับการปฏิบัติงาน

รวมถึงไม่มีกองทุนที่เข้าไปช่วยฟื้นฟูในกรณีที่ยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากเอกชนผู้ก่อมลพิษ ก็สามารถเอาเงินจากกองทุนนี้มาใช้ไปพลางก่อน แล้วค่อยเรียกคืนเอาจากผู้ก่อมลพิษ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

ขณะที่นางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ สะท้อนว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไปไม่ถึงการป้องกัน ทำได้แค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และหลายพื้นที่ที่เข้าไปทำงาน พบว่าชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงานต้องสูญเสียที่ดินทำกินจากการถูกทำลายด้วยมลพิษ ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ

การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ต้องถือเป็นอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม และผู้กระทำต้องถือเป็นอาชญากร ทำยังไงให้กฎหมายเป็นอย่างนั้นให้ได้ ผู้ถูกกระทำต้องมีต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่รู้จบ

นางดาวัลย์ เห็นว่า ถ้ากฎหมายสิ่งแวดล้อมยังอ่อนแอแบบนี้ สังคมไทยก็จะยิ่งป่วย ดังนั้น เมื่อจะติดดาบแล้ว ดาบนี้ก็ต้องคมพอ ใช้ประโยชน์ได้จริง และต้องพาสังคมไทยไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เปิดข้อแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนโทษอาญา

ส่วนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฉบับแก้ไขที่กำลังอยู่ในการชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า มีการเสนอแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มอำนาจให้พนักงานอัยการสามารถฟ้องคดีแทนประชาชนได้ ซึ่งฎหมายปัจจุบันไม่มีอำนาจนี้ การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมมลพิษให้มีมาตรการทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีแค่ตัวเลข

การปรับปรุงระบบการระบายมลพิษ การกำหนดความผิดสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานโดยการเพิ่มโทษทางอาญาจากเดิมที่ไม่มีบทลงโทษ การเพิ่มมาตรการในเขตควบคุมมลพิษให้มีทั้งบทลงโทษและงบประมาณดำเนินการ การมีระบบอนุญาตให้ระบายมลพิษ และมีระบบค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษ

ในเรื่องกองทุนฟื้นฟูได้กำหนดให้มีการวางหลักประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้ได้ทันที การสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายในอนาคตโดยขยายเวลาถึง 10 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ปี และการเพิ่มโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง