ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มธ.-เอกชน เจรจานำเข้า "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" 10 ล้านโดส

สังคม
15 ต.ค. 64
12:19
2,831
Logo Thai PBS
มธ.-เอกชน เจรจานำเข้า "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" 10 ล้านโดส
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจรจาโรงพยาบาลเอกชนจัดหาและนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รวม 10 ล้านโดส ในจำนวนนี้ขอรับบริจาค 3 ล้านโดส คาดข้อตกลงแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้

วันที่ 14 ต.ค.2564 เพจเฟซบุ๊ก "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" โพสต์ข้อความว่า จากสถานการณ์ใน รพ.สนามธรรมศาสตร์ (มธ.) ยืนยันว่า กทม. และปริมณฑล ยังคงอยู่ในภาวะ “ขาลง” ของเวฟ 4 นี้ เมื่อเช้าของวันที่ 14 ต.ค. มีผู้ป่วยผลบวกจาก Swab RT-PCR อีก 10 คน ขณะนี้ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ไม่ได้รับผู้ป่วยเพิ่มมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว ผู้ป่วย COVID-19 ดูแลอยู่เหลือเพียง 38 คน โดยมีแผนที่จะสามารถ Discharge ผู้ป่วย COVID-19 รายสุดท้ายได้ในวันประกาศปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ วันที่ 22 ต.ค.นี้

ตอนหนึ่งของโพสต์ดังกล่าว ยังระบุถึงจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.2564 ที่มีการประกาศข้อบังคับ มธ.ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบแล้วในราชกิจจานุเบกษา มธ.ได้ดำเนินการในเรื่องการจัดหายา วัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกัน หรือรักษาผู้ป่วยในนามของ มธ. ในระหว่างระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างขะมักเขม้น

ในหลายกรณีและขอใช้โอกาสนี้ สรุปว่า มธ.ได้ช่วยทำอะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและของระบบสาธารณสุขในการช่วยกันรับมือ COVID-19 ไปแล้วบ้าง โดยจะนำเฉพาะที่ควรจะบอกเล่าให้ทราบโดยทั่วไปได้ มาสรุปเป็นกรณี ๆ ดังต่อไปนี้

1. เมื่อต้นเดือน ก.ย.นี้ มธ.ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 2,000,000 โดส มาในประเทศในนาม มธ. โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน โดย มธ. จะขอรับบริจาคโมเดอร์นาในจำนวน 100,000 โดส จากจำนวนทั้งหมด มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้

2. ปลายเดือน ก.ย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA (โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ) จำนวน 5,000,000 โดส เข้ามาในประเทศในนาม มธ.โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมด เพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ โดย รพ.ธรรมศาสตร์ ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ

3. ต้นเดือน ต.ค. มธ.ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีนโมเดอร์นา ในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3,000,000 โดส แต่ มธ.จะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติกส์ การดูแลควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านยูโร ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่

"ทั้ง 3 กรณีนี้ โดยที่เราตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ต.ค.นี้ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แม้มีความตกลงและมีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการติดต่อประสานงานชัดเจนแล้ว เราจะได้รับวัคซีนเข้ามาตามนี้อย่างแน่นอน เพราะการจัดหาวัคซีนเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ ถ้าหากทำได้ง่าย ๆ จริง ประเทศของเราคงไม่ประสบกับภาวะการขาดแคลนวัคซีนอยู่เช่นนี้หรอก แต่พวกเราเพียงหวังว่า ถ้าความพยายามนี้ของพวกเราพอจะมีสัมฤทธิ์ผลได้บ้าง แม้เพียงบางส่วน เราก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศ และสามารถช่วยเหลือผู้คนร่วมสังคมได้บ้างตามกำลังของพวกเราเท่านั้น"

4. ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. ได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ (ที่ไม่ใช่โนวา แวกซ์) ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ ก็จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือกเพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า

5. รพ.ธรรมศาสตร์ ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ Molnupilavir ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วย COVID-19 ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. และจะทำ Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ใน รพ.ธรรมศาสตร์ โดยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย โดยได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ดเพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจาก อย. เรียบร้อยแล้ว

"ทั้ง 5 กรณีนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของธรรมศาสตร์ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของ มธ.ที่ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ที่พวกเราอยากจะรายงานให้สังคมไทยได้ทราบ ภายใต้วัตถุประสงค์ประการเดียวของเราที่จะทำให้สังคมและผู้คนชาวไทยมีโอกาสและมีทางรอดจากการคุกคามของ COVID-19 ให้ดีที่สุดและมากที่สุด โดยไม่ได้สนใจว่าภารกิจเหล่านี้มีจะหน่วยงานภาครัฐหน่วยใดดูแลรับผิดชอบดำเนินการอยู่ตามกฎหมายอยู่แล้วหรือไม่"

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ป่วยโควิดรายใหม่ 10,486 คน เสียชีวิต 94 คน 

ที่ปรึกษา FDA แนะฉีด "โมเดอร์นา" เข็ม 3 ให้ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง

เริ่มแล้ว นนท์ Student ฉีด "ไฟเซอร์" นร. 68,000 คน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง