ตะลุยกองถ่าย! เบื้องหลัง "แบงคอค" Virtual Influencer ไม่มีเพศคนแรกของไทย

Logo Thai PBS
ตะลุยกองถ่าย! เบื้องหลัง "แบงคอค" Virtual Influencer ไม่มีเพศคนแรกของไทย

ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะได้สัมภาษณ์ Virtual Influencer แต่เมื่อโอกาสมาถึง ไทยพีบีเอสออนไลน์ก็ไม่รอช้า เดินทางไปถึงสตูดิโอ ทีม bda.world.service เจ้าของโปรเจ็ก bangkoknaughtyboo ผู้สร้าง "แบงคอค" Virtual Influencer ไม่มีเพศ หรือ non-binary คนแรกของประเทศไทย 

Q : สวัสดีค่ะ
แบงคอค : สวัสดีครับ

Q : ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ
แบงคอค : ผมชื่อแบงคอคนะครับ อายุ 17 ปีตลอดไป แต่เกิดมาได้ 1 ปีแล้วครับ ยินดีที่ได้มาคุยกับไทยพีบีเอสนิวส์ในวันนี้นะครับ

Q : แบงคอคเป็นคนแบบไหน
แบงคอก : แบงเป็นคนซน ๆ อืม..ไม่จำกัดเพศ และเป็น Global citizen ครับ

บทสนทนาสั้น ๆ นี้ กำลังเกิดขึ้นในจินตนาการของทีมข่าวและทีมงาน bda.world.service กับการสร้าง "แบงคอค" มานั่งบนเก้าอี้ว่างตัวหนึ่ง ราวกับเรากำลังพูดคุยกันอยู่จริง ๆ กระบวนการหลังจากนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ภาพที่อยู่ในความคิดของเราจะกลายเป็นคลิปวิดีโอให้ได้ชมกัน

ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ไหน ๆ ก็มาถึงฐานที่มั่นที่เป็นทั้งกองถ่าย และกองตัดต่อแล้ว ไทยพีบีเอสออนไลน์ก็ขอเกาะขอบจอเจาะเบื้องหลังการทำงานกว่าจะมาเป็น Virtual Influencer แบบที่เราได้เห็น ๆ กันผ่านอินสตาแกรมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกัน

Virtual Influencer ต้องมีสถานที่จริง-สแตนอิน

มุก-ณิชกานต์ รัตนแสงเสถียร 3D Artist ในโปรเจ็ก bangkoknaughtyboo ที่กำลังออกแบบขนตา "แบงคอค" เพื่อการถ่ายแบบคอลเลกชันใหม่ เล่าถึงกระบวนการสร้าง Virtual Influencer ว่า จุดเริ่มต้นของแบงคอก เกิดจากการรวบรวมต้นแบบตัวแทนวัยรุ่นมา ก่อนนำข้อมูลเข้าโปรแกรมเกี่ยวกับการสร้างหน้าตาเพื่อออกแบบแบงคอก 


หลังได้โมเดลหน้าตามาแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาผิวหนัง รูขุมขน รอยแตกของปาก ผม ขนคิ้ว ขนตา ไปจนถึงลูกตา ซึ่งต้องใช้หลายโปรมแกรม และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ลงรายละเอียดให้มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด 

 


ขณะเดียวกัน เมื่อรับงานแบรนด์มาก็จะต้องกำหนดคาแรกเตอร์ให้เข้ากับสินค้า หรือเสื้อผ้า แล้วออกกองไปถ่ายภาพจริง ในสถานที่จริงโดยใช้สแตนอิน จากนั้นก็นำภาพมาลงคอมพิวเตอร์ ก่อนจะแมปแบงคอคเข้าไปในภาพ แต่งแสง ทำมุม จุดยากที่สุดคือ แววตา ที่ต้องสะท้อนภาพสถานที่จริง เพื่อให้เหมือนของจริงมากที่สุด

หน้าตาแบงคอคจัดว่า เด็ด คาแรกเตอร์จัดจ้าน มีความแฟชั่น เราเปลี่ยนสีผมให้น้องทุกคอลเลกชัน ซึ่งเป็นจุดแข็งและเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่ท้าทายให้เราได้พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่จำเจ

แม้จะพัฒนามาเองกับมือ แต่ มุก-ณิชกานต์ บอกว่า วันนี้ "แบงคอค" ยังพัฒนาไม่ใกล้เคียงคำว่า 100% เลย เพราะแบงคอกยังเป็น Virtual Influencer ครึ่ง Computer Generated Imagery (CGI) และครึ่งมนุษย์ แต่ในอนาคตอาจพัฒนาแบงคอคให้เป็น CGI 100% แบบที่ไม่ต้องใช้สถานที่จริงหรือไม่ต้องมีสแตนอินอีกต่อไป

 


ขณะเดียวกันความฝันของแบงคอค คือการเป็น POP Star ระดับโลก ดังนั้น โจทย์สำคัญของนักพัฒนาอีกอย่าง คือการทำให้แบงคอคขยับได้ เต้นได้ ร้องได้ ซึ่งต้องใช้เทคนิคหลายอย่างและค่อนข้างยาก "มนุษย์ 2 คน เต้นพร้อมกันยังเต้นไม่เหมือนกัน CGI ก็น่าจะยากในทางเทคนิคกว่าจะทำให้ขยับได้สวยเหมือนมนุษย์หรือมีคาแรกเตอร์"

"แบงคอค" ตัวแทนวัยรุ่นยุคใหม่ในกรุงเทพฯ

หลังจากรู้ขั้นตอนการสร้าง "แบงคอค" ให้กลายมาเป็น Virtual Influencer กันแล้ว ไทยพีบีเอสออนไลน์ ขยับมาถามถึงที่มาของ "แบงคอก" กับ บีม-อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม เจ้าของโปรเจ็ก bangkoknaughtyboo เพื่อทำความรู้จักกับตัวตนของ Virtual Influencer คนนี้ให้ลึกมากยิ่งขึ้น

 


"Lil Miquela" Virtual Influencer จากสหรัฐอเมริกา คือแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ทีมงานเกิดไอเดียอยากสร้าง Virtual Influencer จากฝีมือคนไทยขึ้นมาบ้าง บีม-อดิศักดิ์ จึงเริ่มชวนเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันมาเริ่มโปรเจ็ก โดยตั้งเป้าว่าอยากให้ "แบงคอค" เป็นศูนย์รวมคาแรกเตอร์ของวัยรุ่นยุคใหม่ในกรุงเทพฯ

เด็กรุ่นใหม่ ไม่สนเรื่องเพศ เราก็เซ็ตให้แบงคอคเป็น non-binary มีไอดอลเป็นลิซ่า Blackpink ชอบกินชานมไข่มุก หรือเป็นนักลงทุนในด้าน Cryptocurrency โชว์ความเป็นเด็กยุค 2000 

แม้ว่าวันนี้เราเรียกแบงคอคว่า Virtual Influencer และแบงคอคเริ่มเข้าสู่วงการจากการเป็นนายแบบ แต่ความฝันของแบงคอค ก็เหมือนความฝันของเด็กคนอื่น ๆ ที่อยากจะเป็นนักร้องชื่อดังระดับโลก เมื่อเป้าหมายชัดเจน ทีมงานก็ค่อย ๆ สร้างตัวตนแบงคอคไปเรื่อย ๆ ให้ทุกคนได้ติดตามและทำความรู้จักผ่านอินสตาแกรม 

non-binary กับเรื่องเพศที่แบงคอคอยากบอกสังคม

บีม-อดิศักดิ์ ยอมรับว่า ตลาด Influencer ขณะนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะใคร ๆ ก็เป็น Influencer ได้ ดังนั้น การสร้างเรื่องราวของตัวเองให้ดีก็เป็นอีกจุดขายสำคัญ  แบงคอคเป็น Virtual Influencer ก็คือ 1 จุดขาย แล้วแบงคอคก็เปิดตัวเป็น non-binary เป็นอีกจุดขายด้วย

ตอนนี้ต้องดูว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจ non-binary และ Virtual Influencer ไหม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังให้ข้อมูลสังคม ไปพร้อม ๆ กับการทำให้ผู้คนได้รู้จักกับแบงคอค

การให้แบงคอคไม่มีเพศ เป็นความตั้งใจของ บีม-อดิศักดิ์ ที่มองว่า โลกเรามีปัญหาเหยียดเพศกันมาก และในฐานะที่แบงคอคเป็นเหมือนตัวแทนวัยรุ่นยุคใหม่ ซึ่งเข้าใจและยอมรับเรื่องเพศกันอยู่แล้ว "ถ้าเราไม่ Judge หรือตัดสิน คนฝั่งตรงข้ามเรื่องเพศ เราก็ตัดปัญหาไปได้" non-binary เป็นเทรนด์ที่กำลังมาในต่างประเทศ จึงอยากให้คนไทยรู้จัก เปิดใจ เพราะทีมผู้สร้างแบงคอคเองก็เพิ่งเรียนรู้กับเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างแบงคอคเช่นกัน


แม้วันนี้ "แบงคอค" จะยังมีงานเข้ามาไม่มาก แต่ทีมผู้สร้างเชื่อว่า แบงคอคจะสู้ Influencer คนอื่น ๆ ได้ ด้วยจุดแข็งที่มีความยืดหยุ่นกว่ามนุษย์ สามารถเซ็ตว่าแบงคอคอายุ 17 ปีตลอดไปก็ทำได้ หรือเซ็ตว่าพรุ่งนี้จะกินอาหารอร่อยจนตัวแตกก็ทำได้ โดยใช้ CGI "พอใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก มันครีเอทีฟได้สูง ทำให้สนุกตรงนี้ แต่ข้อเสียก็มี คือเราต้องใช้ทีมใหญ่ และงบเยอะ" 

 

"ดอกบัวไฟ" ศิลปินคอมพิวเตอร์กราฟิก 100%

ไม่ใช่แค่เพียง Virtual Influencer แบบครึ่ง CGI ครึ่งมนุษย์ แต่ทีมโปรเจ็ก bangkoknaughtyboo ยังได้พัฒนา "ดอกบัวไฟ" ศิลปินที่สร้างจากคอมพิวเตอร์กราฟิก หรือ CGI 100% อีกโปรเจ็กด้วย

เอิ๊ก-วรณัฐ วรพิทักษ์ นักพัฒนาทั้ง 2 โปรเจ็ก บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "ดอกบัวไฟ" คือ คอมพิวเตอร์กราฟิก 100% คล้ายกับอนิเมชันหรือตัวละครในเกมส์ แต่เราหาเรื่องราวมาสร้างให้เขาเหมือนมนุษย์มากขึ้น พร้อม ๆ กับการออกแบบพัฒนารายละเอียดต่าง ๆ และเสนอในมุมมองที่เหนือจินตนาการได้

อยากให้ดอกบัวไฟผลักขอบเขตของโลกออนไลน์ออกไปได้ไกลกว่าที่มันจะเป็นไปได้ ตอนนี้หลายผลงานในออนไลน์ยังอ้างอิงจากโลกจริงอยู่ แต่เราอยากให้ดอกบัวไฟผลักโลกจริงออกไปเลย

 


ถ้านิยามดอกบัวไฟคือ นักดนตรีและศิลปินที่ทำงานศิลปะของตัวเองในโลกออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาดอกบัวไฟมีผลงานเพลงรีมิกซ์ในโลกจริงแล้ว จากการร่วมงานกับคลื่นวิทยุที่ฮ่องกง และในอนาคตอาจจะเห็นผลงานจริง ๆ ของดอกบัวไฟในโลกจริงในฐานะศิลปินนักวาดภาพ โดยทำงานร่วมกับศิลปินที่เป็นมนุษย์มีการแสดงภาพในแกลลอรีให้ผู้คนเดินชมได้ ขณะที่ดอกบัวไฟอาจจะแสดงภาพในอีกโลกหนึ่งที่ไม่มีอยู่จริงควบคู่กันไป

 


เอิ๊ก-วรณัฐ มองว่า เมื่อใช้เทคนิค CGI 100% ช่วยทลายข้อจำกัดในเรื่องการใช้สถานที่จริง สแตนอินไปได้แล้ว ยังทลายกำแพงความคิดและจินตนาออกไปได้อย่างไม่มีข้อจำกัด "อยากให้เป็นผีปอปลงไปในโอ่ง หรืออยากให้เป็นแม่นากยื่นมือออกไป ดอกบัวไฟเป็นได้ทุกอย่าง" เรียกได้ว่าเป็นอีกสีสันในวงการศิลปะในยุคดิจิทัลของไทยที่ต้องจับตามองกันต่อไป สำหรับศิลปินดิจิทัลอนาคตไกลคนนี้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคดิจิทัลกับอนาคต "Virtual Vs มนุษย์"

เทรนด์ใหม่ Virtual Influencer กำลังมา เอเจนซี่เปิดตัวสาวไทย "ไอรีน"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง