ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็คอาการ "มะเร็งสมอง" ภัยร้ายใกล้ตัว

สังคม
17 ต.ค. 64
11:37
5,400
Logo Thai PBS
เช็คอาการ "มะเร็งสมอง" ภัยร้ายใกล้ตัว
รพ.บำรุงราษฎร์ เผยโรคมะเร็งสมอง เกิดจากเซลล์มะเร็งบริเวณสมอง หรืออาจจะลุกลามมาจากอวัยวะอื่นของร่างกาย ส่วนอาการโดยทั่วไป อาจมีอาการศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงตอนเช้า คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาการทรงตัว การพูด และการมองเห็น ตลอดจนบุคลิกภาพเปลี่ยนไป

วันนี้ (17 ต.ค.2564) จากกรณีที่นายรณชัย ถมยาปริวัฒน์ หรือ “อ๊อด คีรีบูน” ศิลปิน-นักแสดง และนักแต่งเพลง ได้เสียชีวิต เมื่อเวลา 22.15 น. ของวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยโรคมะเร็งสมอง

จากข้อมูลของเว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า มะเร็งสมอง คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายบริเวณสมอง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดขึ้นเองที่เนื้อเยื่อสมอง หรือจากการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่น มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่

หรือประวัติการเกิดโรคมะเร็งของสมาชิกในครอบครัว ส่งผลต่อร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาด้านการทรงตัว ความคิด สติปัญญา ความทรงจำ การพูด การมองเห็น บุคลิกภาพ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

อาการเบื้องต้นของโรค

ส่วนอาการจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก โดยอาการที่พบอาจมีสาเหตุหรือเป็นผลข้างเคียงมาจากความผิดปกติอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งสมองก็ได้ ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไปหากเป็นเพียงอาการเบื้องต้นหรืออาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็สามารถไปพบแพทย์ได้หากมีข้อสงสัย

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังต่อไปนี้ ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมหมดสติ ซึม ชัก อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา กล้ามเนื้อกระตุก มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ

มีปัญหาในการพูด มีปัญหาในการมองเห็น มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

หรือหากพบอาการร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน อาเจียนบ่อยและไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการอาเจียนนั้นได้ มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด โดยเฉพาะที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด

ส่วนสาเหตุนั้น มะเร็งสมองเป็นเนื้องอกอันตรายที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในลักษณะที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่า เซลล์มะเร็ง โดยอาศัยเลือดและสารอาหารจากร่างกายไปหล่อเลี้ยง อาจเกิดขึ้นที่บริเวณสมอง หรือเกิดจากมะเร็งที่ลุกลามหรือกระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ไต ลำไส้ใหญ่ หรือผิวหนัง

เนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อดีในบริเวณรอบข้าง มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก ถึงแม้เคยผ่านการรักษามาแล้ว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งสมองเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยต่างๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมการสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน มีประวัติการเกิดโรคมะเร็งสมองกับสมาชิกในครอบครัว

เป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)

การสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี รวมไปถึงยากำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พลาสติก ตะกั่ว ยาง น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอบางชนิด

แนวทางวินิจฉัยของแพทย์

สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งสมอง สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งสมองได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังต่อไปนี้ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อหาผลกระทบของเนื้อร้ายที่มีต่อสมอง

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็ง การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีหรือ PET Scan เพื่อหาตำแหน่งของเนื้อร้าย

ส่วนการตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxis) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป

วิธีการรักษาโรคมะเร็งสมอง

ในการรักษาโรคมะเร็งสมอง จำเป็นต้องใช้ทีมแพทย์ที่ประกอบด้วยหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เช่น นักประสาทวิทยา ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่มากกว่า 1 วิธี

ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของเนื้อร้าย รวมไปถึงอายุและปัญหาหรือเงื่อนไขทางการแพทย์อื่นๆ ของผู้ป่วย แพทย์อาจให้สเตียรอยด์เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เพื่อลดอาการบวมของสมอง หรือให้ยากันชักในผู้ป่วยบางราย

รวมไปถึงวิธีการรักษาอื่นๆ ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองดังต่อไปนี้ การผ่าตัด เพื่อทำการกำจัดเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy) คือการฉายแสงที่มีพลังงานสูงเพื่อทำลาย ลดการขยายตัวและหยุดการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย ใช้ในผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เช่น เนื้อร้ายอยู่ในตำแหน่งที่บอบบางและยากต่อการผ่าตัด หรือใช้หลังการผ่าตัดที่ยังคงหลงเหลือเซลล์มะเร็งอยู่

การรักษาด้วยรังสีสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น External Radiation คือการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงผ่านชั้นผิวหนัง กระโหลก เซลล์สมอง ไปยังตำแหน่งของเนื้อร้าย โดยจะทำประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาไม่นานต่อ 1 ครั้ง Stereotactic Radiosurgery คือการทำลายเนื้อร้ายโดยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงจากหลายทิศทางด้วยความแม่นยำ โดยทำหลังจากมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า

การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรียกว่าการทำคีโม คือการใช้ยา อาจเป็นยา 1 ชนิดหรือรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในการรักษา สามารถให้ได้ทั้งทางเส้นเลือดหรือรับประทาน จะใช้ยาเป็นรอบ ๆ โดยจะเว้นระยะให้ผู้ป่วยได้พักฟื้น และดูการตอบสนองต่อการรักษา การทำเคมีบำบัดสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก เบื่ออาหาร ผมร่วง เป็นต้น

สมองอาจได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายจากเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูร่างกายหลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งสมอง สามารถทำได้โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้ การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าสมองถูกทำลายจากเซลล์มะเร็ง ทำให้ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพูด การเดิน หรือการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การฟื้นฟูโดยการรักษาแบบทางเลือก เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ หรือการรับประทานอาหารเสริม เพื่อชดเชยสารอาหารที่สูญเสียไปในระหว่างการรักษา รวมไปถึงการฝังเข็ม หรือการใช้สมุนไพร ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์สำหรับทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย

ภาวะแทรกซ้อนมะเร็งสมอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งสมองสามารถเกิดขึ้นได้และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษาบางชนิด ได้แก่ เนื้องอก มีเลือดออกเฉียบพลัน เกิดการอุดตันของน้ำในไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ความดันในกระโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นกะทันหันจากการเคลื่อนของสมอง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

แพทย์ยังไม่พบวิธีป้องกันโรค

ในปัจจุบัน การแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมอง แต่สามารถปฏิบัติตัวตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี รวมถึงลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

วงการเพลงสุดเศร้า "อ๊อด คีรีบูน" เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง

อาลัย "บรูซ แกสตัน" ครูเพลงฝรั่งหัวใจไทย ถึงแก่กรรม 

กทม.เผยนักเรียน ม.ปลาย ฉีดไฟเซอร์แล้ว 87% ม.ต้น เริ่มฉีด 18-20 ต.ค.นี้

นาซาส่งยาน "ลูซี" สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันครั้งแรก

แฟนเพลงร่วมอาลัย ราชาหมอลำ "พรศักดิ์ ส่องแสง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง