รพ.ตักเตือน "หมอฉุกเฉิน" ปฏิเสธคนไข้ จ่อเรียกคุย 2 ฝ่ายเพิ่ม

สังคม
2 พ.ย. 64
19:55
1,401
Logo Thai PBS
รพ.ตักเตือน "หมอฉุกเฉิน" ปฏิเสธคนไข้ จ่อเรียกคุย 2 ฝ่ายเพิ่ม
สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมเรียกแพทย์เวรฉุกเฉิน รพ.เชียงดาวและผู้ป่วยมาพูดคุย เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีคลิปหมอปฏิเสธรักษาคนไข้

เหตุการณ์ที่แพทย์เวรฉุกเฉิน โรงพยาบาลเชียงดาว ให้ผู้ป่วยที่มากลางดึกกลับบ้าน เพราะมองว่าอาการไม่ฉุกเฉิน เรื่องนี้อาจจะต้องมองให้รอบด้านทั้งมุมของแพทย์และผู้ป่วยกับญาติ แม้แพทย์จะมีภาระหนักแต่ก็ต้องควบคุมอารมณ์ ในขณะที่ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องประเมินอาการตัวเองว่าฉุกเฉินหรือไม่

คลิปเหตุการณ์ดังกล่าว มีบทสนทนาระหว่างแพทย์เวรประจำโรงพยาบาลเชียงดาวกับญาติของผู้ป่วย ช่วงหนึ่งว่า อาการของผู้ป่วยถือว่าไม่เร่งด่วน ให้กลับบ้าน

 

วันนี้ (2 พ.ย.2564) ญาติเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยมีอาการไข้หนาวสั่น ท้องเสีย ครอบครัวปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ยังไม่ดีขึ้น ไข้ขึ้นสูง จึงตัดสินใจพาผู้ป่วยลงดอยจากหมู่บ้านระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อไปโรงพยาบาล เวลาประมาณ 01.00 น. เมื่อไปถึงมีพยาบาลมาพูดคุย จึงเล่าอาการให้ฟัง แต่ญาติระบุว่า พยาบาลให้กลับ เพราะอาการไม่เร่งด่วน จากนั้นแพทย์เวรจึงออกมาคุยตามภาพในคลิปวิดีโอ

 

คลิปวิดีโอดังกล่าว ถ่ายโดยญาติของผู้ป่วย และถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก จากนั้นถูกส่งต่อกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

 

ไทยพีบีเอสสอบถามข้อมูลกับ พญ.กชพร อินทวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลเชียงดาว ระบุว่าหลังจากเกิดเหตุ ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกับแพทย์เวรคนดังกล่าว แต่โดยปกติแพทย์เวรประจำโรงพยาบาล แต่ละคืนมีเพียงคนเดียว และช่วงนี้ทำงานหนักจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ อาจจะเกิดความเครียดสะสม เบื้องต้นตักเตือน และให้คำแนะนำไปแล้ว

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุเกณฑ์อาการฉุกเฉินวิกฤตไว้ เช่น หัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ปกติ ตัวเย็น ซีด อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เจ็บหน้าอกรุนแรง ชัก เกร็ง

 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ อธิบายว่า หากจะสังเกตเบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉิน ต้องรับการรักษาทันที หรือสามารถรอได้หรือไม่ อาจดูได้จากการซักประวัติ สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจน หรือดูว่ายังสามารถเดินเองได้หรือไม่ ถ้าหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่นอกจากนั้น ต้องประเมินทรัพยากรของแต่ละโรงพยาบาลที่มีไม่เท่ากันด้วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมองว่าทั้ง 2 ฝ่าย มีอารมณ์ แต่ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ต้องเต็มใจให้บริการ ไม่ปฏิเสธการรักษาคนไข้ แต่คงไม่ถึงขั้นต้องลงโทษหนัก

ขณะนี้แพทย์เวรในวันเกิดเหตุ ขอลาพัก 4 วัน และสาธารณสุขจังหวัด เตรียมเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุย เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป

 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ปภ.เตือน 11 จังหวัดภาคใต้ ระวังน้ำท่วมจากฝนตกหนัก 3-6 พ.ย.นี้

เตรียมเรียกเจ้าของเพจชื่อดัง ชี้แจงแต่งกายเลียนแบบ "พระพุทธเจ้า"

เพจดังเตือนระวัง "กาแฟผสมยาอี" ฮิตใน Tiktok ป.ป.ส.เร่งปราบคนขาย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง