เดินหน้าบูรณะ “ศาลาการเปรียญ” วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร

ภูมิภาค
10 พ.ย. 64
12:13
453
Logo Thai PBS
เดินหน้าบูรณะ “ศาลาการเปรียญ”  วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
กรมศิลปากร เดินหน้าบูรณะศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จ.เพชรบุรี เร่งค้ำยันเสาป้องกันการทรุดตัวของอาคารและรัดเสาเพื่อลดการปริแตก คาดแล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ พร้อมจัดแผนบูรณะเพื่อของบฉุกเฉินบูรณะใหญ่

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ความคืบหน้าในการบูรณะศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จ.เพชรบุรี โบราณสถานในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังพบเสาไม้แปดเหลี่ยม ภายในศาลาชำรุดมีรอยร้าวและมีร่องรอยของปลวกกัดกิน บางจุดเนื้อไม้ปริแตกเป็นทางยาวกว่า 3 เมตร จนหลายคนกังวลว่าจะสร้างความเสียหายให้กับอาคารเก่าอายุนับร้อยปี

 

 

ล่าสุด นางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กล่าวว่า ทีมช่างบูรณะได้เข้ามาดำเนินการค้ำยันตัวอาคาร และรัดเสาไม้ที่เกิดการปริแตก โดยจะค้ำยันเสาด้านล่างใต้ถุนศาลาการเปรียญทุกห้องโดยใช้เหล็กขันน็อตยึดตัวเหล็กค้ำเสา เบื้องต้นจะดำเนินการเฉพาะต้นที่มีความเสียหายมากก่อน โดยในทุกขั้นตอนจะมีวิศวกรของกรมศิลปากร รวมถึงช่างโยธาของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี มาดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานการบูรณะโบราณสถาน สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการครั้งนี้ประมาณ 200,000 บาท

หลังจากนี้สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนบูรณะประเมินราคา ของบประมาณฉุกเฉินของกรมศิลปากรมาดำเนินการบูรณะใหญ่อีกครั้ง

 

ส่วนสถานการณ์น้ำแม่น้ำเพชรบุรี ไม่ได้มีผลกระทบต่อการบูรณะตัวศาลาการเปรียญของวัดฯ โดยช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักทางวัดจะใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออก ทั้งรอบอุโบสถและใต้ถุนศาลาการเปรียญ โดยจะใช้เวลาในการระบายน้ำออกไม่นาน ขณะที่เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่มีน้ำทะเลหนุนใช้เวลาระบายน้ำออกจากพื้นที่ประมาณ 6 ชั่วโมง 

 

 

นายนมะ กลางสูงเนิน นายช่างโยธาชำนาญงานสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กล่าวว่า การบูรณะใช้เทคนิคการค้ำยันพยุง เพื่อกระจายแรงของโครงสร้างที่รับน้ำหนักจากหลังคาลงมาสู่เสา โดยจะใช้เหล็กนั่งร้านพยุงค้ำยันตามแนวยาว กระจายแรงตามแนวพื้นเพื่อลดภาระของเสาอาคาร และเสริมความมั่นคงตัวแนวเสา

"ศาลาเปรียญหลังนี้เก่าแก่ มีรอยแตกในแทบทุกต้นจึงต้องเร่งบูรณะ หากปล่อยไว้จะเสียหาย และกระทบโครงสร้าง"

แนวทางการบูรณะครั้งนี้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และจากการประเมินตัววัสดุอาคารยังสามารถรับน้ำหนักได้ ส่วนการดำเนินงานคาดจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ 

 

สำหรับศาลาการเปรียญแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยไม้ผนัง ลงรักปิดทอง แต่เคยบูรณะผิดพลาดทำให้ถูกทาทับด้วยสีแดงทั้งหลัง และหลังคาถูกเทด้วยปูนตำ (ปูนโบราณ) จึงทำให้มีความชื้นและมีตะไคร่ขึ้นจับบนหลังคา อย่างไรก็ตามการบูรณะรอบนี้จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาสภาพของศาลาเปรียญให้ได้มากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมศิลป์ ทุ่มงบฯ เร่งซ่อมด่วนศาลาฯ วัดใหญ่สุวรรณาราม หวั่นเสียหายหนัก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง