ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลูกช้างป่า ติดบ่วงล่าสัตว์บาดเจ็บ อาการปลอดภัยแล้ว

สิ่งแวดล้อม
29 พ.ย. 64
08:14
832
Logo Thai PBS
ลูกช้างป่า ติดบ่วงล่าสัตว์บาดเจ็บ อาการปลอดภัยแล้ว
ลูกช้างป่า เขาสิบห้าชั้น ขาติดบ่วงล่าสัตว์บาดเจ็บ ทีมสัตว์แพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เข้าช่วยรักษา ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว

วันนี้ (29 พ.ย.2564) จากกรณีเหตุการณ์ มีชาวบ้านไปพบลูกช้างป่า ติดกับดักถูกบ่วงเชือกรัดขาได้รับบาดเจ็บ บริเวณเขาหินขวาก ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ก่อนได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และเจ้าหน้าที่กู้ภัยสมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถานจันทบุรี จุดแก่งหางแมว เข้ามาช่วยเหลือ ล่าสุดทางทีมสัตว์แพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบและให้การช่วยเหลือรักษาลูกช้าง จนมีอาการปลอดภัยแล้ว

นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับแจ้งจาก นายอนันต์ นพเวช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นว่า มีพบมีลูกช้างป่าถูกบ่วงพรานรัดขา ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาทางคณะเจ้าหน้าที่อุทยาน ได้พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ เดินทางเข้าไปทำการตรวจสอบ เบื้องต้นพบลูกช้างป่าอายุประมาณ 3 เดือน อยู่ในสภาพถูกบ่วงเชือกรัดที่ขาหน้าขวา มีอาการบาดเจ็บ อยู่ในคูกันช้าง บริเวณบ้านคลองยายไท หมู่ที่ 18 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้เร่งประสานให้ทีมสัตว์แพทย์เร่งเข้าทำการช่วยเหลือรักษาต่อมา ทีมสัตว์แทย์ สบอ. 2 พร้อมด้วย นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการพร้อมด้วย ส่วนสัตว์ป่า นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ ได้เดินทางไปดูอาการของลูกช้างดังกล่าว

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

จากนั้นได้ทำการเคลื่อนย้าย ลูกช้างป่า กลับมายังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้า ชั้นที่ 1 (เขาหินขวาก) พร้อมกำชับให้ทีมสัตว์แพทย์ ดำเนินการรักษา ตามขั้นตอน พร้อมประเมินสภาพร่างกาย ดูแลและสังเกตโรคล่าสุดทางทีมสัตว์แพทย์ได้ทำการ ถอดบ่วงเชือกออกจากขาของลูกช้างพร้อมการล้างแผล และให้ยาฆ่าเชื้อตามขั้นตอน

ส่วนบาดแผลที่มีลักษณะเป็นรูจำนวน 7 แห่ง ที่บริเวณขาหน้าซ้ายของลูกช้างเบื้องต้นจากการตรวจสอบแล้ว คาดเกิดจากการถูกหนามหรือกิ่งไม้ทิ่มแทง ระหว่างที่ลูกช้างถูกกับดักและพลัดหลงจากฝูง เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่อุทยาน ได้ทำคอกชั่วคราว เพื่อเป็นสถานที่อนุบาลดูแล อาการลูกช้างป่า ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

"บ่วงดักสัตว์" มหันตภัยคุกคามชีวิตสัตว์ป่า

ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความจากกรณีพบลูกช้างบาดเจ็บดังกล่าว โดยระบุ สำหรับ บ่วง แร้ว เป็นเครื่องมือดักสัตว์ที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพของสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ประกอบได้ง่าย ใช้อุปกรณ์ที่หาได้โดยทั่วไป และสามารถอำพรางการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้ไม่ยาก

สัตว์ป่าเมื่อติดกับดักจะดิ้นด้วยความตกใจ ทุกข์ทรมาน ลักษณะของบ่วงที่ผูกนั้นเมื่อสัตว์ยิ่งดิ้นหรือยิ่งขยับ บ่วงจะยิ่งรัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ บางตัวที่ติดบ่วงจะถูกรัดจนบาดลึกถึงกระดูกเกิดเป็นแผลเน่าเป็นสาเหตุให้ล้มตายได้ในที่สุด

หากโชคดีเจ้าหน้าที่พบ หรือชาวบ้านพบก่อนก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์เข้าทำการช่วยเหลือและรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยชีวิตไว้ได้ แต่ถึงกระนั้น สัตว์ที่ติดกับดัก หรือแม้แต่ช้างป่าที่ติดบ่วงแร้ว ก็อาจจะพิการไม่สามารถเดินหากิน หรือใช้ชีวิตอยู่ในป่าด้วยตัวเองตามปกติได้อีกต่อไปตลอดทั้งชีวิต

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ตัวอย่างเช่น กรณีของพังฟ้าแจ่ม ที่เจ้าหน้าที่ได้พบและช่วยเหลือไว้เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 ตั้งแต่ยังเป็นลูกช้าง ไม่หย่านม ซึ่งสัตวแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันประสานการรักษาอย่างเต็มที่ จนถึงปัจจุบันพังฟ้าแจ่มปลอดภัยแล้ว แต่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้อีกต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง

ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามในพื้นที่ และเพื่อให้ในพื้นที่ป่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า

จากการลาดตระเวนยังพบมีการใช้เครื่องมือดักสัตว์ป่าประเภทบ่วงแร้วที่ทำด้วยเชือก และสลิง ปืนผูก และอุปกรณ์อื่น ๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บกู้ออกได้ก่อนเกิดเหตุ และลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

การใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสถานภาพสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าล้มตาย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างทุกข์ทรมาน นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ทั้งนี้หากพบเห็นหรือมีเบาะแสการกระทำที่ผิดกฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า แจ้งได้ที่สายด่วน 1362 ซึ่งหากเป็นการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ดักสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 19 (3) ฐานล่อ หรือนำสัตว์ป่าออกไป หรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ด้วยประการใดๆ มาตรา 19 (7) ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆเข้าไป ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 และมาตรา 45 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดทุกราย

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง