มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการนครบาล 8 และกองกำกับการ 5 (งานประชาสัมพันธ์ กองบังคับอำนวยการตำรวจนครบาล) และ กสทช.พัฒนาเว็บไซต์ “ฉลาดโอน” ซึ่งเป็นตัวกลางในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นต้นแบบในการหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
ท่ามกลางการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อพูดคุยกันได้ง่ายขึ้นผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือ การทำธุรกรรมอื่น ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพออนไลน์มักมีกลโกงแอบแฝงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ จนทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้มีการตรวจสอบตัวตนจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยใช้การเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่เป็นแบบเติมเงินไปเรื่อย ๆ และใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะ เป็นเครื่องมือหลักในการกระทำความผิด
ทาง "ฉลาดโอน" จัดกลุ่มการบริการออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 3 เช็ก 2 ประเมิน 1 แจ้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เช็กชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีคนโกง เพื่อป้องกันก่อนโอนเงิน
- เช็กไอพีแอดเดรสของคนโกง เพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่อยู่ในปัจจุบัน
- เช็กตัวตนจริงของผู้ขาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เกิดความมั่นใจก่อนการโอน
- ประเมินบัญชีโซเชียล เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าหรือบุคคลที่ต้องการทำธุรกรรมด้วย
- ประเมินเอกสารหลักฐานการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้ผู้เสียหายรับทราบถึงโอกาสในการแจ้งความดำเนินคดีสำเร็จ
- แจ้งรายชื่อคนโกง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เสียหายร่วม ทำให้การดำเนินคดีมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ “ฉลาดโอน” เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคนโกง เบอร์โทรหลอกหลวง SMS หลอกหลวง และเป็นศูนย์ตรวจสอบรายชื่อบัญชีมิจฉาชีพทั่วประเทศ โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่มีการรวมรวมข้อมูลปัญหา และช่องโหว่ของคนโกงไว้มากกว่า 80,000 คดี พร้อมจะแบ่งปันความรู้ แนวทาง และเทคนิคการเอาผิดดำเนินคดี อายัดบัญชีของคนโกง บัญชีม้า
แท็กที่เกี่ยวข้อง: