กรมอุทยานฯ ฝังเข็ม-กระตุ้นไฟฟ้า รักษา "ลายแทง" เสือชรา ป่วยลุกไม่ได้

สิ่งแวดล้อม
19 มี.ค. 65
14:22
683
Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ ฝังเข็ม-กระตุ้นไฟฟ้า รักษา "ลายแทง" เสือชรา ป่วยลุกไม่ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานแห่งชาติฯ รักษา "ลายแทง" เสือชราที่ป่วยลุกนั่งและยืนไม่ได้ด้วยการฝังเข็มและกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกมารักษาร่วมกับการกายภาพบำบัดให้สัตว์ป่า

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2565 นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และหัวหน้าศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก

ร่วมกับกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำการกายภาพเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อลายแทง อายุ 19 ปี โดยได้รับความอนุเคราะห์ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอุปกรณ์การรักษา จากโรงพยาบาลสัตว์แอนิมัลสเปซ

 

สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก กล่าวว่า เสือโคร่งลายแทง เป็นเสือชรา มีอาการป่วยกระทันหัน ซึ่งได้รักษาเบื้องต้น แต่ไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ 

และพบว่าค่าไต ค่าตับสูงผิดปกติ เม็ดเลือดขาวสูง เม็ดเลือดแดงต่ำ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้รักษาตามอาการ ซึ่งเสือมีอาการคงที่ ไม่ทรุดหนักไปกว่าเดิม แต่ยังไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ด้วยตัวเอง

สัตวแพทย์จึงตัดสินใจรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ร่วมกับการกายภาพบำบัด โดยได้ฝังเข็มรักษา พร้อมทั้งกระตุ้นไฟฟ้าผ่านเข็มที่ฝังตามจุดต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกายสัตว์ป่วย และใช้คลื่นอัลตราซาวน์ ในการลดปวด ลดอักเสบ ของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นไฟฟ้าตามมัดกล้ามเนื้อ โดยหวังผลเรื่องชะลอกล้ามเนื้อลีบ ซึ่งกล้ามเนื้อมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตัวสัตว์

อย่างไรก็ตาม ในการรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า จะต้องตรวจค่าเลือด และตรวจสภาพร่างกายของสัตว์ทุกครั้ง ซึ่งจากการรักษาดังกล่าวพบว่า มีอาการดีขึ้น และจะต้องทำซ้ำในช่วง 7-10 วัน โดยจะต้องประเมินสภาพร่างกาย ก่อนการรักษาทุกครั้ง

ทั้งนี้ การรักษาดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้นำเอาศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ามารักษาเสือโคร่งชราดังกล่าว

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง