ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โค้งสุดท้ายนโยบายผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ลั่นกลอง 31 มี.ค.นี้

การเมือง
30 มี.ค. 65
19:49
368
Logo Thai PBS
โค้งสุดท้ายนโยบายผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ลั่นกลอง 31 มี.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นับถอยหลังพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) ลั่นกลองวันแรกเปิดรับสมัครผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เปิดนโยบาย 9 คนเบื้องต้น พร้อมเสียงสะท้อนคนกรุงที่จะได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งในรอบ 9 ปีอยากเห็นการแก้ปัญหามลพิษ การศึกษา ปากท้องและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

อีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ สนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ในฐานะสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จะเริ่มลั่นระฆังอย่างเป็นทางการ หลังจากว่างเว้นมานาน 9 ปีเต็ม

หากเปรียบกับอุณหภูมิต้นฤดูร้อน เริ่มร้อนแรงขึ้น เพราะแค่เดือนแรกที่มีการเปิดว่าที่ผู้สมัคร และแถลงนโยบาย เห็นสัญญาณดุเดือดแล้ว เพราะไม่ใช่โชว์โปรไฟล์ตัวบุคคล แต่ยังงัดนโยบายเด็ด มาซื้อใจคนกรุงกว่า 4,300,000 คนที่มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

เช็กนโยบายโค้งสุดท้ายก่อนรับสมัครพรุ่งนี้  

เบื้องต้นมีอย่างน้อยๆ 9 คนแล้วที่ประกาศชัดว่าจะลงสมัคร ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 ทั้งในนามพรรคการเมือง และในนามอิสระตลอดช่วงเดือนกว่าๆ แต่ละคนชิงจังหวะเปิดนโยบาย และแสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหาเมืองเพื่อเร่งทำคะแนน

ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อสายวันนี้ คือว่าที่ผู้สมัครฯ ในนามพรรคไทยสร้างไทยที่ใช้ "คลองเตย" เป็นแลนด์มาร์กในการกลับคืนสู่สนามเลือกตั้ง เหมือนครั้งแรกที่ถอดชุดนักบิน F16 มาลง ส.ส.ที่นี่เมื่อปี 2544 กลับมาคราวนี้ น.ต.ศิธา ทิวารี สวมเสื้อ "ไทยสร้างไทย" และประกาศจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น มหานครของโลก Global Smart City ทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯไม่เคยทำ 

 

แต่ที่ออกตัวมาก่อน คือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ ที่ต้องการสร้างกรุงเทพให้เป็น เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมีนโยบายย่อยกว่า 200 นโยบายตามแผน "กรุงเทพ 9 ดี" เช่น ปลอดภัยดี สุขภาพดี เศรษฐกิจดี และเรียนดี

"ดร.เอ้" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ชิมลางการเมือง ลงสมัครผู้ว่าฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขอแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองหลวง กับนโยบาย 2 เปลี่ยน เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพ เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก เปลี่ยนเมืองหลวงแห่งนี้ให้เป็น เมืองสวัสดิการ ต้นแบบอาเซียน

ส่วน "สกลธี ภัททิยกุล" อดีตรองผู้ว่า กทม.ที่ประกาศศึกนี้ "ไม่ได้มาเพื่อแพ้" ชู 6 นโยบายหลัก ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้ และเชื่อว่า ทุกนโยบายจะสำเร็จได้ภายใน 4 ปี

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สละเก้าอี้ดาวในสภามาลงสนามกทม.ในนาม "พรรคก้าวไกล" พร้อมปักหมุดพลิกมหานคร ด้วย 12 นโยบายหลัก ในการทำให้กรุงเทพ เป็น "เมืองที่ทุกคนเท่ากัน"

5 ปี 5 เดือน 5 วันคือครึ่งทางที่ "พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง" บอกว่า เขาได้ทำให้กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว แต่ 4 ปีต่อจากนี้ "กรุงเทพ" ต้องไปต่อด้วยนโยบาย 8 ต่อ เพื่อสร้าง "เมืองที่ปลอดภัยสงบสุข และมีคุณภาพที่ดีขึ้น"

อ่านข่าวเพิ่ม กทม.พร้อมรับสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 31 มี.ค.-4 เม.ย.นี้

 

นอกจากนี้ยังมี อดีต สว.รสนา โตสิตระกูล ใช้สโลแกน "กทม.มีทางออก บอกรสนา" เน้นลุยตรวจสอบ สร้างความโปร่งใสการใช้งบประมาณ สกัดปัญหาเรื้อรังตามสไตล์นักเคลื่อนไหว และการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

ขณะที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย ประกาศสู้ศึกเลือกตั้งในนามอิสระ พร้อม
ชูสโลแกนฉีกแนว "500 วัน ทำไม่สำเร็จ ลาออกทันที"

ปิดท้ายด้วย อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย "ประยูร ครองยส" เดิมทีจะลงสมัครในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ แต่เปลี่ยนใจ ขอลงในนามอิสระ

ทั้งหมดนี้ คือว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ในนาม 6 อิสระ และ 3 พรรคการเมือง ที่จะตบเท้าไปสมัคร ที่ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง พรุ่งนี้ (31 มี.ค.) แน่นอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โซเชียลร้อง "อัศวิน" แก้ปมป้ายหาเสียงชิงผู้ว่าฯ กทม.ขวางทาง

 

ความหวังแก้ "ฝุ่นพิษ-เพิ่มพื้นที่สีเขียว" สุขภาพคนเมือง

ขณะที่จากการตรวจสอบนโยบายของผู้เตรียมรับสมัครเลือกตั้งยังมีหลายประเด็นที่รอการแก้ไข ทั้งปัญหาฝุ่น PM2.5การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามมาตรฐาน WHO ที่ต้องการไปให้ถึง 9 ตร.ม.ต่อคน  รวมทั้งปัญหาปากท้องที่ยังไม่มั่นคง 

หาบเร่แผงลอยอยากจะมีที่ค้าขายเพิ่ม เพราะเราไม่มีเงินออม หาเช้ากินค่ำเงิน ไม่มีเงินจะไปเช่าหน้าตึกไม่ดีหรอกเดือนละเป็นหมื่น

 

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ไม่มีว่าที่ผู้สมัครฯ คนไหนกล้าทิ้ง เพราะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาปากท้องให้กับคนยากจนในเมืองที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในทางเศรษฐกิจที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนใน 50 เขต รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการงานที่มั่นคง และท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคหลังโควิด-19 

ขณะที่ชาวกทม.บางคนสะท้อนว่าอยากให้มีโครงการรถขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทาง เพราะถ้ามีระบบเชื่อมต่อจะลดการเดินทาง แต่ถ้าต่อรถสาธารณะ ใช้เวลา 10 นาที

 

ส่วนนักเรียนกลุ่มนี้ มองว่า ยังมีความปลอดภัยเรื่องการข้ามถนนข้ามทางม้าลาย ต้องระวัง ดูรถเพราะยังพบว่าไม่จอดให้เด็กข้ามทางม้าลาย ดังนั้น ถ้ามีการทำรถไฟฟ้าอยากให้เชื่อมต่อกับทางมหาวิทยาลัย

9 ปีที่คนกรุงว่างเว้นจากคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อยๆ คือ ความต้องการในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา และกำหนดทิศทางการพัฒนา กทม.ที่มีงบประมาณปีละกว่า 100,000 ล้านบาท

การเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังได้เห็นความตื่นตัวของภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในการระดมความคิดเห็นและพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัครฯ เพื่อทำให้ข้อเสนอของพวกเขา กลายเป็นนโยบายที่จับต้องได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ไทยสร้างไทย" ส่ง "ศิธา" ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง