ภาพมุมสูงบริเวณเกาะเฮ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แสดงให้เห็นแนวปะการังเขากวาง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 เมตร เริ่มพบปัญหาเสื่อมโทรมลงมากและตาย เมื่อเทียบกับปี 2561 เหลือปะการังที่สมบูรณ์ที่บริเวณขอบไม่ถึงร้อยละ 5
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้น คาดว่าเกิดจากปรากฎการณ์ธรรมชาติ เนื่องจากพบว่าข้อมูลปี 62 ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างผิดปกติ ประมาณ 15 ซม.และอยู่นาน จึงมีผลต่อปะการัง แม้จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งความร้อน ปริมาณตะกอน
ระดับน้ำทะเลที่ลดลงผิดปกติ มีผลทำให้ปะการังฟอกขาวตาย แต่ปะการังจะสามารถฟื้นตัวได้เอง โดยอัตราเจริญเติบโตปีละ 7-10 ซม.หากพื้นที่บริเวณนี้ไม่ถูกคุกคามเพิ่มเติม จึงวางแนวทุ่นไว้เพื่อป้องกันการรุกล้ำทำลาย เพื่อให้ปะการังได้ฟื้นตัว
นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดน้ำขึ้น-ลง มากกว่าปกติ ทำให้ปะการังโผล่พ้นน้ำนานกว่าปกติ
ในช่วงน้ำลงจากเดิม 2 ชั่วโมง เป็น 3-4 ชั่วโมง ทำให้ปะการังปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะในโซนตื้น ทำให้ตายจำนวนมาก และหากอยู่ใกล้บริเวณน้ำขุ่น มีตะกอนมาก เช่น ป่าชายเลน หรือร่องน้ำเดินเรือ ซากปะการังจะถูกปกคลุมด้วยตะกอน ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว