จากกรณี สาวโพสต์โซเชียล แชร์ประสบการณ์สั่งสปาเก็ตตี้แซลมอนรมควัน พร้อมแจ้งว่าแพ้กุ้ง แต่เคี้ยวพบหางกุ้ง แพ้หนัก แน่นหน้าอก คอบวม อาเจียนจนต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยทางร้านชี้แจงสาเหตุว่าใช้หม้อลวกเดียวกัน แล้วมีหางกุ้งติดมากับตะแกรง เบื้องต้น ร้านอาหารแจ้งว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้
(อ่านข่าวเพิ่มเติม : สาวพบ "หางกุ้ง" ในสปาเก็ตตี้แซลมอน แพ้หนักถูกหามส่ง รพ.)
ล่าสุด นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดังให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงแง่มุมด้านกฎหมายว่า มี 2 กรณี คือ ผู้เสียหายไม่ได้แจ้งว่าแพ้อาหาร จะเอาผิดร้านอาหารไม่ได้ แต่หากแจ้งแล้ว ร้านทราบแล้ว แต่ยังมีปนสิ่งที่แพ้ในอาหาร ทางร้านต้องผิดชอบฐานประมาทเลิ่นเล่อ หากกินแล้วเสียชีวิตร้านอาจถูกดำเนินคดีฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้
ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดกรณีลูกค้าไปรับประทานอาหารแล้วเสียชีวิตจนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญามาก่อน
ทั้งนี้ เมื่อบริโภคแล้วมีการรักษาต่อเนื่อง ในฐานะผู้ประกอบการ ร้านอาหารต้องชดใช้เยียวยาผู้บริโภคทั้งค่ารักษาพยาบาลทั้งปัจจุบันและอนาคต และค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจประมาทเลิ่นเล่อทำต่อบุคคลอื่นให้เสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้ถือว่าเป็นความประมาทเลิ่นเล่อของร้าน เพราะทราบอยู่แล้วว่าลูกค้าแพ้กุ้ง แต่ยังใส่กุ้งมา