เตือนประชาชนกิน "อาหารดิบ" เสี่ยงพยาธิ-ไข้หูดับ

สังคม
29 เม.ย. 65
11:33
2,123
Logo Thai PBS
เตือนประชาชนกิน "อาหารดิบ" เสี่ยงพยาธิ-ไข้หูดับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สบส.สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารดิบ พบประชาชน 22.2% นิยมกินอาหารทะเลดิบ แซลมอนซาซิมิ หมึกช็อต, 10.9% กินสัตว์น้ำจืดดิบ กุ้งฝอย ก้อย, 7.3% กินเนื้อวัวดิบ และ 5.9% กินเนื้อหมูดิบ ชี้เสี่ยงโรคพยาธิ ไข้หูดับ ติดเชื้อทางเดินอาหาร หากรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

วันนี้ (29 เม.ย.2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กระแสการกินอาหารดิบของคนไทยกำลังเป็นที่นิยม เชื่อว่าอาหารดิบมีความสดใหม่ น่ากิน รสชาติเป็นที่ถูกปากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารดิบ สบส.จึงได้เฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบของประชาชน โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 ระหว่างวันที่ 5-31 มี.ค.2565 มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 113,847 คน

 

ประชาชน 22% ชอบกินอาหารทะเลดิบ

ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 28 กินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง โดยแบ่งเป็นอาหารดิบ แต่ละประเภท ดังนี้ ประชาชนร้อยละ 22.2 นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาซิมิ ยำปูทะเล, ประชาชนร้อยละ 10.9 นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ, ประชาชนร้อยละ 7.3 นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว และประชาชนร้อยละ 5.9 นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู

จากการสำรวจพบว่าประชาชนยังคงนิยมกินอาหารดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ผ่านความร้อน หรือใช้ความร้อนในระยะเวลาอันสั้น เช่น ยำปูสด ส้มตำหลากหลายรูปแบบ ลาบหมู ก้อยเนื้อ รวมถึงอาหารประเภทยำต่าง ๆ ที่มักจะลวกเนื้อสัตว์กึ่งดิบกึ่งสุก และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในปอด โดยเฉพาะการกินปูดิบ ๆ เข้าไปมีโอกาสกินไข่ หรือตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถชอนไชเข้าไปในปอด ฟักตัว และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การกินหมูดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับได้เช่นเดียวกัน

แนะกินอาหารปรุงสุกใหม่-สะอาด

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เพื่อป้องกันการเสี่ยงอันตรายจากการกินอาหารดิบประเภทต่าง ๆ ประชาชนจึงควรหันมาสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ผ่านความร้อนในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และก่อนนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาปรุงประกอบอาหาร ควรล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีตกค้าง และการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดต้องปรุงสุกถึงข้างใน เพื่อไม่ให้เกิดโรคพยาธิ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้หูดับ และอันตรายถึงชีวิตได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง