สธ.ลดเตือนภัยโควิด-19 เหลือระดับ 3 จาก 4

สังคม
9 พ.ค. 65
16:00
825
Logo Thai PBS
สธ.ลดเตือนภัยโควิด-19 เหลือระดับ 3 จาก 4
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
EOC สธ. ลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เป็น 3 หลังพบแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังเน้นย้ำกลุ่ม 608 ผู้ที่ได้วัคซีนไม่ครบ เลี่ยงการรวมกลุ่ม เลี่ยงเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยืนยันเตียง ยา เวชภัณฑ์ วัคซีนเพียงพอ

วันนี้ (9 พ.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง โดยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากระยะ Plateau (23 จังหวัด) เข้าสู่ระยะ Declining (54 จังหวัด) ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic หรือโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคติดต่อทั่วไปโรคประจำถิ่น

นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับ 2 เข็ม และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ดังนั้น ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และสตรีมีครรภ์) ต่อเนื่อง รวมไปถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ 


อย่างไรก็ดี เน้นย้ำกลุ่ม 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้เสี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก รวมทั้งหากไม่จำเป็น ให้เลี่ยงการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ และเลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ การลดระดับเป็นระดับ 3 เป็นการเตือนภัยของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดสามารถเข้มมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมให้ไทยเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้

การเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีแนวโน้มเร็วกว่าที่คาดไว้ล่วงหน้า จากความร่วมมือของประชาชนทุกคน 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตาม "2U" คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ทั้งเตียงสีเหลือง-แดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคอื่น ๆ

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง