เคมบริดจ์ พัฒนาแบตเตอรี่จากสาหร่าย ใช้ได้นาน 6 เดือน

Logo Thai PBS
เคมบริดจ์ พัฒนาแบตเตอรี่จากสาหร่าย ใช้ได้นาน 6 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากเคมบริดจ์ พัฒนาแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จ่ายพลังงานให้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้นาน 6 เดือน

การผลิตพลังงานทดแทน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและมักจะมาในรูปแบบใหม่ ๆ ที่หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าจะสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เช่น การนำสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำมาเงินมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถให้พลังงานคอมพิวเตอร์ได้ต่อเนื่องถึง 6 เดือน

แม้ว่าจะมีพลังงานทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบัน ยังคงใช้น้ำมันในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก นอกจากไม่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้แล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน จึงทำให้เกิดการคิดค้น ทดลองพลังงานใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความยั่งยืน และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นักวิจัยจากภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ได้พัฒนาระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากสาหร่ายซินนิโคซิสทิส (Synechocystis) ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ใช้กระบวนการสังเคราะห์แสงเป็นกลไกสำคัญในการผลิตพลังงานจากสาหร่ายชนิดนี้

พลังงานที่ได้จากสาหร่าย สามารถจ่ายพลังงานให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้นานถึง 6 เดือน เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับพลังงานที่ได้จากแบตเตอรี่ขนาด AA โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตนั้นหาได้ทั่วไป มีราคาไม่แพง และสามารถนำมาใช้งานแบบหมุนเวียนได้ และที่สำคัญ ไม่ต้องหาแหล่งอาหารให้กับสาหร่าย เพราะสาหร่ายสามารถสร้างได้เองด้วยการสังเคราะห์แสง และสาหร่ายยังคงสร้างพลังงานได้อย่างต่อเนื่องในตอนกลางคืนหรือที่ที่มีแสงสว่างน้อย ด้วยการใช้สารอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงมาเป็นตัวช่วยในการผลิตพลังงานได้เช่นกัน

นอกจากช่วยสร้างระบบผลิตพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้งาน Internet of Things (IoTs) ได้ด้วย เพราะแบตเตอรี่จากส่าหร่ายสามารถจ่ายพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำมาใช้ซ้ำได้


ที่มาข้อมูลและภาพ: cam.ac.uk, techspot, smithsonianmag
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง