"พล.อ.ประยุทธ์" ปาฐกถา Nikkei Forum - หารือนายกฯ ญี่ปุ่น

การเมือง
27 พ.ค. 65
07:02
634
Logo Thai PBS
"พล.อ.ประยุทธ์" ปาฐกถา Nikkei Forum - หารือนายกฯ ญี่ปุ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ กล่าวปาฐกถาในการประชุม Nikkei Forum ตอกย้ำความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น พร้อมกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เปิดรับนักลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC ลั่น ไทยหวังเป็นหนึ่งในฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565 เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมอิมพีเรียล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งท่านได้มาร่วมรับฟังปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น นายกรัฐมนตรีตั้งใจมาร่วมการประชุมด้วย 4 เหตุผลหลัก


1) ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา นายกรัฐมนตรีคิชิดะได้เยือนไทยและประเทศในอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพกว่า 135 ปี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

2) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ขอขอบคุณรัฐบาล นักธุรกิจ และนักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นศักยภาพ สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


3) นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน ในปีนี้ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ซึ่งไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมร่วมมือในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น โดยเฉพาะในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่าง อาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า

และ 4) นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย การเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ทำให้ได้แบ่งปันมุมมองของไทยและรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน


นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุม ต่อคำถามว่าเอเชียจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเมื่อช่องว่างขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ เอเชียจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในทุกด้านได้อย่างไร และคำตอบคือ "เอเชียจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เอเชียจะต้องสนับสนุนความยั่งยืน จะต้องสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น"

3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้

นายกรัฐมนตรี ยังได้แบ่งปันมุมมองของไทยกับ 3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค 

1. กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมี WTO เป็นแกนกลาง และต้องสร้างสภาพแวดล้อมการค้า และการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม ซึ่งไทยกำลังยกระดับและขยายระบบขนส่งทางรางและท่าอากาศยานทั่วประเทศ และกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการบริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่น่าดึงดูดในภูมิภาค

ไทยภูมิใจที่ระบบการธนาคารก้าวหน้าและรวดเร็ว ไทย-สิงคโปร์เชื่อมระบบชำระเงินดิจิทัลครั้งแรกของโลก และเชื่อมระบบในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว หวังว่าจะเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเอเปค


2. ต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง เอเปคเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะสามารถแสดงการสนับสนุนระบบพหุภาคีได้ ในการจัดการประชุมเอเปค 2022 หัวข้อหลักของไทย คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ไทยผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ 

3.การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความยั่งยืน ขอเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย หนทางไปสู่ความยั่งยืนของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 โดยได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV แล้ว

ขณะนี้ไทยมีเรือ EV อัจฉริยะล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนในระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ ไทยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ จึงหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านนี้

นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่น หารือทวิภาคี

ต่อมา เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่พบหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ติดตามและต่อยอดผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา


ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณญี่ปุ่นที่รับพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยเกี่ยวกับการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย และการจัดตั้ง KOSEN Education Center เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีพิจารณาข้อเสนอของไทยเมื่อได้รับข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และพร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า รู้สึกยินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการเปิดรับนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และกล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น


ภายหลังจากเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ร่วมการประชุมฯ ซึ่งจัดโดยบริษัท Nikkei โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงโตเกียว เตรียมร่วมประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง