"โฟร์โมสต์" ปิดโรงงานหลักสี่ ยุติผลิตนมพาสเจอร์ไรส์

เศรษฐกิจ
20 ก.ค. 65
14:19
3,519
Logo Thai PBS
"โฟร์โมสต์" ปิดโรงงานหลักสี่ ยุติผลิตนมพาสเจอร์ไรส์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
Foremost Thailand ออกแถลงการณ์ระบุจะปิดโรงงานหลักสี่ หยุดผลิต และจำหน่ายนมนมพาสเจอร์ไรส์ พบขาดทุน 1,300 ล้านบาทครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังประกอบกิจการนาน 65 ปี ขณะที่ผู้เลี้ยงโคนม นัดเทน้ำนมดิบทิ้งกดดันขึ้นราคา

กรณีซูเปอร์มาร์เกตหลายๆ แห่งไม่มีการจัดจำหน่าย นมยี่ห้อโฟร์โมสต์ พาสเจอร์ไรส์ ต่อมาพบว่าทางบริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีหนังสือขอยุติการจัดส่งสินค้านมพาสเจอร์ไรส์

วันนี้ (20 ก.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก Foremost Thailand ที่มีผู้บริโภคสอบถามว่าหาซื้อนมโฟร์โมสต์พาสเจอไรส์ ในซูเปอร์มาร์เกตไม่ได้เลย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า บริษัทจะยุติการผลิต และการจัดจำหน่าย นมพาสเจอร์ไรส์ ในประเทศไทย โดยยังคงสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอื่นๆของโฟร์โมสต์ที่ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้ตามปกติ

แถลงการณ์ ระบุว่า ขอแจ้งว่าเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ที่หลากหลายสามารถเก็บรักษาได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น

การปิดโรงงานหลักสี่ จะส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตจากโรงงานหลักสี่เท่านั้น แต่บริษัทจะเดินหน้าผลิตและจำหน่ายนมที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายและเก็บรักษาได้นานเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น คือ โฟรโมสต์ ยูเอช ที โฟร์โมสต์โอเมก้า ฟอลคอน เรือใบ มายบอย และเดบิค

สำหรับผลประกอบการธุรกิจของบริษัทฯ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ฟรีแลนด์คัมพิน่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2537 แจ้งดำเนินธุรกิจการผลิตน้ำนมสด (ยกเว้นน้ำนมดิบ)

ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท โดยผลประกอบการย้อนหลังเมื่อปี 2563 มีรายได้ 10,809,148,559 บาทกำไร 289 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายได้ 10,896,144,361 บาท ขาดทุน 1,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าขาดทุนครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทั้งนี้โฟร์โมสต์ ผลิตและจำหน่ายนมพาสเจอรไรส์มานานถึง 65 ปี 

 

"ผู้เลี้ยงโคนม"นัดเทน้ำนมดิบทิ้งกดดันขึ้นราคา

ขณะที่วันนี้จะมีความเคลื่อนไหวของชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย นัดรวมตัวกันเทน้ำนมดิบทิ้งที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อกดดันให้กระทรวงพาณิชย์อนุมัติขึ้นราคาขายนมและผลิตภัณฑ์โดยเร็ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด)ได้อนุมัติปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลังจากต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นแล้ว

โดยให้ปรับขึ้นราคารับซื้อหน้าศูนย์รวบรวมนมดิบอีก กก.ละ 2.25 บาท เป็น 19.75 บาท และปรับขึ้นราคารับซื้อหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 1.50 บาท เป็น กก.ละ 20.50 บาท โดยรัฐจ่ายชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ กก.ละ 0.75 สตางค์เป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาดังกล่าวยังไม่มีผลเพราะต้องรอเสนอให้ครม.เห็นชอบก่อน จากนั้นกระ ทรวงพาณิชย์ถึงจะอนุมัติปรับราคาใหม่ได้ทั้งนมผง นมกล่อง นมขวด เพราะถือเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งการปรับขึ้นราคาจะทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาตามต้นทุน

จากการสอบถามผู้ผลิตนม พบว่าหากเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรสูงถึงกก.ละ 2.25 บาท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายปลีกอีก 5 บาทต่อผลิตภัณฑ์ เช่น นมสด ขนาด 200 ซีซีที่ปัจจุบันขายขวดละ 13 บาท อาจต้องปรับขึ้นเป็นขวดละ 18 บาท มื่อภาครัฐเข้ามาช่วยชดเชยน้ำนมดิบกก.ละ 0.75 สตางค์คาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 2 บาท เช่น ขวดละ 13 บาทปรับขึ้นเป็นขวดละ 15 บาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง