ภาพแรกรอบ 3 เดือน "เสือวิจิตร" โผล่จองบ้านใหม่กลางป่า

สิ่งแวดล้อม
4 ส.ค. 65
11:14
1,151
Logo Thai PBS
ภาพแรกรอบ 3 เดือน  "เสือวิจิตร" โผล่จองบ้านใหม่กลางป่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดภาพแรก "เสือวิจิตร" เสือหนุ่มจากป่าห้วยขาแข้ง หลังปลอกคอที่ติดตามตัวหลุดออกไป 3 เดือน พบเดินผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า คาดได้บ้านหลังใหม่แล้ว พบเหยื่อเช่น กวาง เก้ง หมูป่าเพียงพอ นักวิจัยเผยเสืออภิญญา คลอดลูก 2 ตัวเป็นเจเนอเรชันที่ 3

วันนี้ (4 ส.ค.2565) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หนึ่งในทีมวิจัย Thailand Tiger Project DNP กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติของไทยมีจำนวนมากขึ้น ในรอบ 12 ปีประชากรเสือโคร่งเพื่มขึ้น 100 ตัว

พบลูกเสือเกิดใหม่ ที่ยืนยันตัวและถ่ายภาพแล้ว 2 ครอกๆ ละ 2-3 ตัว เพิ่งพบตัวเมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และตามเจอตัวเสือโคร่งที่ติดปลอกคอ จนพบว่า ไปยังพิกัดที่ไปเป็นประจำ และพบออกลูก 2 ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่ม โดยการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ทั้งนี้เสือที่เพิ่งออกลูกคือ เสืออภิญญา เป็นลูกของแม่บุปผา เสือป่าห้วยขาแข้ง ทำให้ลูกเสือ 2 ตัวจึงเป็นรุ่นหลานของบุปผา เสือโคร่งตัวแรกๆที่อยู่ในโครงการวิจัยมา 14 ปี

รู้สึกชื่นใจ ประทับใจที่เห็นอภิญญาออกลูกในป่า เป็นรุ่นหลานของเสือบุปผาแล้ว ทุกๆปีจะตรวจเช็กภาพเสือโคร่ง เหมือนกับได้เจอหน้ากันปีละครั้ง ถ้าเขายังมีชีวิตรอดเป็นเรื่องที่ดี ทีมงานรอลุ้นทุกปีว่าจะมีเสือเพิ่มขึ้น หรือตัวไหนหายไป ไปโผล่ที่อื่นหรือไม่ เป็นข้อมูลเชิงลึกที่เข้าใจการดำเนินชีวิต

ปักหมุดบ้านใหม่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่

นายสมโภชน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ประชากรเสือโคร่งที่พบในป่าตะวันตก ทำให้รู้แนวโน้มเสือโคร่งในป่าเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2552 เคยถ่ายภาพได้ 52 ตัว แต่ปี 2565 ถายภาพในห่วยขาแข้งได้ 100 ตัว บ่งชี้การทำงานคุ้มครองได้ผล ประสบความสำเร็จ 

ส่วนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ถือเป็นความหวังบ้านใหม่ของเสือโคร่งในช่วง 3-4 ปี พบเสือโคร่ง 15-20 ตัว และเริ่มมีการทำระบบติดตามเสือโคร่ง 47-65 ติดปลอกคอ 60 ตัว และปัจจุบันปลอกคอที่ยังทำงานมี 5 ตัว

จากข้อมูลพบว่า เสือโคร่งใช้พื้นที่และกินเหยืออย่างไร ตัวผู้ และตัวเมียใช้พื้นที่ไม่เท่ากันและแนวโน้มการใช้พื้นที่จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของป่า โดยโฟกัสเสือวัยรุ่น ที่กำลังจะออกจากแม่ ดูว่ามีการเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่ไหนบ้าง ทำให้เห็นแนวโน้ม ทิศทางเสือจากห้วยขาแข้งไปรอบๆพื้นที่ 

ได้ติดตามความสัมพันธ์เสือตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และรุ่นหลานของเสือโคร่ง รอบป่าเขานางรำขยายพันธ์ุอย่างไร อย่างเคสล่าสุดที่เจออภิญญา มีหลานให้กับยายบุปผาแล้ว 2 ตัว

สำหรับการทำฐานข้อมูลอัตลักษณ์เสือโคร่งในป่าในห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ มี 270 ตัว ที่ไม่ซ้้ำกัน แต่บางตัวหาย หรือตายไปบ้าง ส่วนมีการตั้งชื่อตัวที่ติดปลอกคอไปแล้ว 40 ตัวเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยจะตั้งตามพื้นที่และชื่อให้กับคนอยู่ในทีมวิจัย และผู้ใหญ่หรือเป็นเกียรติ

สิ่งที่ได้จากติดปลอกคอ พบว่าเสือโคร่งโดยเฉพาะกลุ่มเสือวัยรุ่น เช่น วิจิตร มีการกระจายพันธุ์ไปใช้พื้นที่ และโยกย้ายไปหาบ้านหลังใหม่ และทิศทางการเคลื่อนย้ายหลายตัวเดินทางไปพื้นที่รอบๆ 

อ่านข่าวเพิ่ม เสือโคร่งในป่าเพิ่ม แต่คดีลอบค้าพุ่ง 6 เดือน จับของกลางลูกเสือ 3 ตัว

ครั้งแรกถ่ายภาพ "เสือวิจิตร" ในรอบ 3 เดือน 

เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ภาพเสือโคร่งระบุว่า เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัยเรื่องวุ่นๆของวัยรุ่น ชื่อ "วิจิตร"

ข้อมูลระบุว่า แฟนตัวยงของวิจิตรย่อมรู้ดีว่า มันได้ออกท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแวะไหว้พระขอพรไปหลายวัด จนในที่สุดมันได้พบว่าไม่ใช่ทางของมัน จึงหันเหกลับเข้าไปใช้ชีวิตในป่า ชีวิตที่กำลังถูกนักวิจัยจับจ้องอย่างเข้มข้น หลังจากหลุดพ้นปลอกคอ ถึงเวลาหลุดออกเองโดยอัตโนมัติ ในพื้นที่อุทยานแห่งหนึ่ง เมื่อหลายเดือนก่อน

ด้วยความสงสัยว่าเสือวิจิตร สามารถจับจองพื้นที่เพื่อหากินได้แล้วหรือไม่ จึงได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายในพื้นที่ที่คาดว่า มันควรจะปรากฏตัว ถ้ามันได้มีการเลือก จับจองพื้นที่นั้นแล้ว

3 เดือนหลังปลอกคอหลุด คาดวิจิตรได้บ้านใหม่

เมื่อวันเวลาผ่านไปราว 3 เดือน ได้มีการตรวจสอบภาพจากกล้องที่ได้ตั้งไว้ ข่าวดีคือกล้องบันทึกภาพเสือโคร่งมีไข่คู่ได้ 1 ภาพ เมื่อตรวจสอบก็รู้ได้ว่ามันคือ วิจิตร และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ก็ได้ภาพสะโพกมาอีกหนึ่งเสี้ยว โดยที่ไม่ได้เสือโคร่งตัวอื่นๆ รวมถึงตัวเมียแต่อย่างใด และที่ชวนสงสัยคือ ระยะเวลาตั้ง 3 เดือน ทำไมวิจิตรจึงปรากฏที่จุดนั้นเพียงแค่ครั้งเดียว

ส่วนภาพสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ถ่ายภาพได้ เป็นที่น่าชื่นใจคือ บรรดาสัตว์กีบที่เป็นอาหารโอชะของเสือโคร่งได้แก่ กระทิง กวางป่า เก้ง และ หมูป่า ซึ่งหมายความว่า อาหารในบริเวณนั้นมีพอสมควร ในขณะที่ตัวผู้คู่แข่งก็ไม่มี แต่ตัวเมียก็ไม่ปรากฏเช่นกัน

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเสือวิจิตร ไปตามหาคู่อยู่ จึงไม่เน้นเรื่องหากินเพื่อให้คลายสงสัย จึงได้มีการตั้งกล้องไว้ต่อเนื่องต่อไป

ด้วยความคาดหวังว่า ถ้าได้ภาพวิจิตรอีกสักครั้ง อาจตีความได้ว่าเสือวิจิตร เลือกที่จะอาศัยในบริเวณนั้นแล้ว แต่ยังขาดคู่จึงต้องออกตามหาหัวใจที่อยู่ไกลๆก่อน จึงทำให้ระยะเวลาในการแวะเวียนมาตรงจุดดักถ่ายยาวนานมากขึ้น มาเอาใจช่วยและลุ้นไปพร้อมกับนุดวิจัยได้เลย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แห่ชม “เสือน้องขวัญ” ขวัญใจโซเชียลแน่นบึงฉวาก

ปทส.จับเพิ่ม 4 คนขบวนการค้าลูกเสือโคร่ง พบเป็นเจ้าของสวนเสือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง