ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขปริศนา! คางคกไทยรอดตายบิน 6,000 ไมล์ไกลถึงเวลส์

ต่างประเทศ
11 ส.ค. 65
07:00
2,235
Logo Thai PBS
ไขปริศนา! คางคกไทยรอดตายบิน 6,000 ไมล์ไกลถึงเวลส์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก อพวช.ไขปริศนาเหตุใด "คางคกบ้าน" จึงรอดตายหลังเดินทางไกลไปถึงเวลส์ที่ต้องเดินทางถึง 6,000 ไมล์ข้ามโลก ชี้ลักษณะเป็นสัตว์ที่อึด และโชคดีแอบในรองเท้า ไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป ผิวหนังหนา หยาบป้องกันการสูญเสียน้ำ

วันนี้ (10 ส.ค.2565) สำนักข่าว walesonline รายงานข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์ข้ามประเทศ หลังจาก HANNAH TURIAN นักศึกษาสาวชาวเวลส์ โพสต์ภาพ “คางคก” ที่ระบุว่า ซุกกระ เป๋ามาด้วยจากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ไปถึงเวลส์ สหราชอาณาจักร

เธอให้สัมภาษณ์ผ่านทางสำนักข่าวดังกล่าว ระบุว่า เพิ่งกลับจากการเดินทางไปเยี่ยมญาติ ทีประเทศไทย และไปสอนภาษาอังกฤษนาน 1 เดือน แต่ภายหลังจากเดินทางกลับถึงบ้านเกิด และเตรียมนำสัมภาระออกจากกระเป๋าเดินทาง เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น กระทั่งมันออกมาต้องตกใจ และกรีดร้องเสียงดัง

เพื่อนบ้านของเธอเข้ามาดู และพบว่าเป็นคางคก ที่สันนิษฐานน่าจะติดมาจากประเทศไทย ต่อมาจึงตั้งชื่อคางคกว่า "โรเบิร์ต" และโพสต์ทางเฟซบุ๊ก เพื่อหาบ้านให้กับมัน

กระทั่งได้รับการติดต่อมาจากศูนย์ดูแลสัตว์เลื้อยคลาน (RSPCA) ในเวลส์ มารับเจ้าโรเบิร์ตไปดูแล ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ระบุว่าคางคกโรเบิร์ต ถือเป็นคางคกตัวแรก ที่เดินทางมาไกลติดในรองเท้าของนักศึกษารายนี้ ก่อนหน้านี้ เคยเจอเพียงกบตัวเล็กๆ ที่ติดมากับกล้วยเท่านั้น

ภาพ: สำนักข่าว walesonline /HANNAH TURIAN

ภาพ: สำนักข่าว walesonline /HANNAH TURIAN

ภาพ: สำนักข่าว walesonline /HANNAH TURIAN

ไขปริศนาทำไมคางคกไทยอึด-เดินทาง 6,000 ไมล์ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระุบุว่า คางคกที่ปรากฎในข่าวเป็นคางคกบ้าน สาเหตุที่เดินทางไกล และยังไม่ตายน่าจะอยู่ในจุดที่ไม่ถูกกดทับ ไม่ร้อน หรือเย็นจัดเกินไป โดยจากข่าวพบว่าอยู่ในรองเท้าที่เก็บในกระเป๋าเดินทาง จึงเป็นไปได้ที่ไม่ตาย ที่ผ่านมาเคยมีเคสแบบนี้ครั้งหนึ่ง แต่ไม่เป็นข่าว

หากถามว่า จะมีโอกาสปรับตัวหรืออยู่ในสภาพอากาศของต่างประเทศหรือไม่ เชื่อว่าไม่สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้ เพราะยุโรปมีช่วงฤดูหนาวจัด แต่ถ้าเอามาเลี้ยงแบบคุมอุณหภูมิ ก็คงอยู่ได้ รวมทั้งถ้าจะขยายพันธุ์ก็ต้องมีตัวอื่นๆ เพียงพอให้จับคู่กันได้

นอกจากนี้นักวิชาการ อพวช. ยังระบุอีกว่า คางคกบ้าน อึดกว่าชนิดอื่นๆ เพราะตามปกติคางคก ก็อดทนในพื้นที่ความชื้นต่ำได้ดีกว่า กบ เขียด ที่ชอบพื้นที่เปียกชื้นมากกว่า เพราะลักษณะของมันอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งได้ดีกว่าเพราะผิวหนังหนา หยาบป้องกันการสูญเสียน้ำได้ดีกว่า

คางคกบ้าน มีพิษความร้อนไม่ทำลายพิษได้ 

สำหรับคางคกบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Duttaphrynus melanostictus หรือขี้คันคาก ในภาษาอีสานและภาษาลาว หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่า คางคก มีผิวหนังที่แห้งและมีปุ่มปมทั้งตัว ที่เป็นปุ่มพิษ โดยเฉพาะหลังลูกตา มีรูปทรงกลมคล้ายเมล็ดถั่วขนาดยาวประมาณ 25 มิลลิเมตร กว้าง 10 มิลลิเมตร แผ่นหูมีลักษณะเห็นได้ชัดเจน ขนาดเล็กกว่าลูกตาเล็กน้อย

มีสีผิวหนังเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาตลอดทั้งลำตัว บริเวณรอบปุ่มพิษ จะมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่น ๆ ใต้ท้องเป็นสีน้ำตาลเหลืองอ่อน ในขณะที่ยังเป็นวัยอ่อนจะเป็นสีขาวซีดกว่า มีขนาดประมาณ 68-105 มิลลิเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในวงกว้างในทวีปเอเชีย ตั้งแต่แนวเทือกเขาหิมาลัย อินเดีย  จีนตอนใต้ เมียนมาทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และพบได้ทั่วไปในทุกสภาพแวดล้อม ทั้งในเมืองใหญ่และในป่าดิบ

คางคก มักเป็นสัตว์ที่มีผู้นิยมนำมากินทั้งๆ ที่มีพิษ มักมีผู้เสียชีวิตบ่อยๆ จากการกิน เพราะเชื่อว่าเป็นยาบำรุงและรักษาโรคต่าง ๆ ได้ โดยพิษของคางคกนั้นไม่สามารถทำให้หายไปได้ด้วยความร้อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง