สัตว์แปลกยอดฮิต! ลิง-งู-ตะกวด-เต่า-เสือดาว จากไทยสู่อินเดีย

สิ่งแวดล้อม
17 ส.ค. 65
15:36
633
Logo Thai PBS
สัตว์แปลกยอดฮิต!  ลิง-งู-ตะกวด-เต่า-เสือดาว จากไทยสู่อินเดีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับชาวอินเดีย ลอบนำสัตว์ป่าควบคุมในบัญชีไซเตส 6 ชนิด เช่น ลิงมาโมเสท จิ้งจอกทะเลทราย งูหลามเผือก ตะกวด ปลายทางอินเดีย เตรียมขยายผลแหล่งลอบเพาะในไทย คุยในเวทีไซเตสปลาย พ.ย.นี้ พบสถิติถี่ขึ้นเป็นชาวอินเดียมากกว่า 6 คดีในรอบ 4 เดือน

วันนี้ (17 ส.ค.2565) นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าหายาก (ไซเตส) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประจำจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ

พบกระเป๋าผู้โดยสารลักษณะคล้ายสิ่งมีชีวิตอยู่ภายในกระเป๋าเดินทาง โดยเจ้าของเป็นกระเป๋าสัมภาระของชาวอินเดียอายุ 21 ปี ผู้โดยสารของสายการบินไทย จะเดินทางไปสนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย

 

จากการตรวจสอบภายในกระเป๋า พบสัตว์ป่าควบคุม 6 ชนิด รวม 17 ตัว มีจิ้งจอกทะเลทราย 1 ตัว แร็กคูน 1 ตัว ลิงมาโมเสท 8 ตัว จิ้งเหลนสีเขียว 2 ตัว ตะกวด 3 ตัว งูหลามเผือก 2 ตัว อยู่ในตะกร้าพลาสติกขนาดต่าง ๆ ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสัมภาระ มีการใช้ถุงอาหาร ขนมปิดทับอยู่ รวมมูลค่าของกลางประมาณ 98,000 บาท

ช่วงเดือน ส.ค.นี้ พบความผิดปกติชาวอินเดีย ลักลอบนำสัตว์ป่าในบัญชีไซเตสไปอินเดียรวม 4 เคสแล้ว แสดงว่า อินเดียมีความนิยมเลี้ยงสัตว์แปลก มีการลักลอบเพาะในไทย คาดว่ากลุ่มที่จับได้จะเป็นคนรับจ้างขนสัตว์ออกไปปล่อยให้พ่อค้าคนกลางกระจายสินค้า 

ลิงขนาดเล็ก-งู-เสือ ของแปลกยอดนิยม

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสัตว์แปลกที่นิยมลอบขนไปอินเดียเพื่อนำไปเลี้ยง ที่จับได้บ่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นลิงขนาดเล็ก เช่น  ลิงมาโมเสท เต่าดาวอินเดีย เต่าดาวรัศมี เต่าดาวพม่า รวมทั้งเสือดาว และสัตว์เลื้อยคลานแปลก ๆ งูสวยงาม ซึ่งราคาสัตว์ป่าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ราคาตั้งแต่ราคาหลักหมื่น จนถึงหลักแสนบาท 

โดยเฉพาะเต่าดาวรัศมีราคา 40,000 - 50,000 บาท งูราคา 10,000 บาท ลิงมาโมเสท 10,000 บาท ซึ่งรอบก่อนจับเต่าได้ 10 - 20 ตัว ราคาเกือบ 1 ล้านบาท ทำให้เกิดแรงจูงใจในการลักลอบขาย ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบว่าไมโครชิพในสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบ แสดงว่ามีแหล่งในการลักลอบเพาะสัตว์ป่า 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ในเวทีการประชุมไซเตส CoP19 เดือน พ.ย.นี้ที่ประเทศปานามา เป็นเจ้าภาพ ไทยจะหยิบยกการลักลอบค้าสัตว์ไปหารือกับอินเดีย เพื่อวางแนวทางให้ชัดเจน เพราะพบสถิติถี่มากขึ้น

นอกจากนี้ กำลังหาความเชื่อมโยงของชาวอินเดียที่ลักลอบ และถูกจับใน 2 - 3 คดีก่อนหน้า ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ หรือมีกลุ่มพ่อค้าคนกลางทั้งในไทยและอินเดีย เพราะสังเกตว่าส่วนใหญ่จะแฝงเป็นนักท่องเที่ยว แอบขนสัตว์ป่าออกไปเป็นล็อต ๆ และนำไปปล่อยขาย ตอนนี้ได้ประสานพนักงานสอบสวน เพื่อเร่งหาต้นตอและแหล่งลอบเพาะสัตว์ป่าในไทย 

กำหนดสัตว์ป่าควบคุม 68 ชนิดต้องแจ้งครอบครอง

ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯ ได้ออกกฎกระทรวงตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อกำหนดชนิดสัตว์ป่า 68 ชนิด ที่เป็นสัตว์ป่าควบคุมในบัญชีไซเตส ต้องมีการแจ้งครอบครอง ซึ่งภายใน 1 - 2 เดือน น่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีระยะเวลาในการบังคับใช้

สำหรับกลุ่มสัตว์ควบคุมสัตว์เลื้อยคลาน กลุ่มนก ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กอริลล่า ชิมแปนซี อุรังอุตัง เต่ายักษ์กาลาปากอส นกแก้วมาคอร์ เต่าดาวอินเดีย เต่าดาวพม่า ลิง เสือจากัวร์ เสือชีต้า ปลาช่อนยักษ์ ปลากระเบนหนาม เป็นต้น 

 

สำหรับการส่งออกสัตว์ป่าดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 23 ฐานส่งออกสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 ฐานนำสัตว์ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 และมาตรา 244 ฐานนำของต้องกำกัดหรือของต้องห้าม ออกไปนอกราชอาณาจักร โดยได้คุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย

4 เดือน จับชาวอินเดียลอบนำสัตว์ไปอินเดีย

ขณะที่ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ พบว่า ในช่วง 3 - 4 เดือน ที่ผ่านมาพบชาวอินเดียลอบนำสัตว์ป่าออกจากไทยอย่างน้อย 5 คดี

  • 16 พ.ค.2565 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันตรวจยึดเม่นเผือก 1 ตัว และลิงทามารีน 1 ตัว เป็นสัตว์ป่าควบคุม มูลค่าของกลาง 300,000 บาทจากชาวอินเดีย ปลายทางสนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย และสัตว์ป่าได้ถูกส่งกลับประเทศไทยแล้ว
  • 26 มิ.ย.2565 จับหญิงชาวอินเดีย 2 คน กำลังจะขนสัตว์ป่ามีชีวิตได้แก่ เม่นขาว และ เต่า 35 ตัว กิ้งก่า 50 ตัว และงู 20 ตัว อาร์มาดิลโล 2 ตัว ซุกซ่อนในกระเป๋าเดินทาง 2 ใบ เพื่อเดินทางไปกับเครื่องบินโดยสารการบินไทย ไปที่สนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย 

 

  • 5 ก.ค.2565 ชายชาวอินเดีย อายุ 25 ปี เดินทางมาจากสนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลักลอบนำเต่าคุ้มครอง เช่น เต่าดาว 81 ตัว มูลค่ากว่า 800,000 บาท 
  • 13 ส.ค.2565 สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งกลับแจ้งว่า มีสัตว์ป่ามีชีวิต จำนวน 23 ตัว ถูกส่งกลับมาจากสนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย ที่เดินทางออกจากไทยเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และลักลอบนำออกไปจากไทย มีลิง (De Brazza Monkey) 1 ตัว งู King Snake  15 ตัว งู Ball Python จำนวน 5 ตัว และเต่ามีชีวิต (Aldabra Tortoise) 2 ตัว 
  • 17 ส.ค.2565 ชายชาวอินเดีย ลักลอบนำสัตว์ป่าควบคุม 6 ชนิด รวม 17 ตัว มีจิ้งจอกทะเลทราย 1 ตัว แร็กคูน 1 ตัว ลิงมาโมเสท 8 ตัว จิ้งเหลนสีเขียว 2 ตัว ตะกวด 3 ตัว งูหลามเผือก 2 ตัว โดยอยู่ในตะกร้าพลาสติกขนาดต่าง ๆ ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสัมภาระ มีการใช้ถุงอาหาร ขนมปิดทับอยู่ รวมมูลค่าของกลางประมาณ 98,000 บาท

นอกจากนี้ หากย้อนไปในช่วงปี 2564  ยังมีกรณีที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งเเวดล้อม (บก.ปทส.) จับกุมชาวอินเดีย หลังล่อซื้อลูกเสือดาวในราคา 430,000 บาท และนัดส่งมอบลูกเสือดาวให้กับสายลับ ภายในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งบนถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ซึ่งตอนนี้ลูกของกลางชื่อ "อั่งเป่า" ถูกนำไปเลี้ยงที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยึด "เม่นเผือก-ลิงทามารีน" คาสนามบินอินเดีย

ยึดเต่า 116 ตัว มูลค่า 9 แสนบาท หลังหญิงยูเครนขนข้ามประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง