โชว์ครั้งแรก! “หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน” ไม่เจอตัว 16 ปีงานวิทย์ปี'65

Logo Thai PBS
โชว์ครั้งแรก! “หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน” ไม่เจอตัว 16 ปีงานวิทย์ปี'65
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อพวช.เปิดให้เด็กๆ "ลอดช่อง ส่องถ้ำ" ค้นหาดาวเด่นสัตว์ พืชหายากใกล้สูญพันธุ์ ที่ต้องใช้ถ้ำเป็นบ้าน ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปี 2565 จัดถึงวันที่ 21 ส.ค.นี้ ไฮไลต์ "หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน" สิ่งมีชีวิตที่ไม่เจอตัวนาน 16 ปีในไทย กิ้งกือขนาดเล็ก ปลาค้อตาบอด
ตื่นเต้นมาก ได้มาเข้าถ้ำครั้งแรก เจอสัตว์หน้าตาแปลกๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งหลายตัว สนุกมาก อยู่ที่นี่ 2 ชั่วโมงหนูยังไม่หมดพลัง ชอบทุกที่ได้สัมผัสของจริงทุกอย่าง

เสียงตื่นเต้นของน้อง ๆ 2 คน หนึ่งในตัวแทนกว่า 16,000 คนที่ได้มาร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปี 2565 ที่เริ่มเปิดฉากไปตั้งแต่วันที่ 17-21 ส.ค. นี้ และวันนี้ได้เข้ามา "ลอดช่อง ส่องถ้ำ" หนึ่งในไฮไลต์งานปีนี้ ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) 

 

พื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร ถูกเนรมิตร และจำลองเป็นถ้ำที่ค้นพบในไทย และของโลก ทั้งถ้ำหินทราย ถ้ำหินปูน ถ้ำใต้น้ำ และไปไกลถึงถ้ำน้ำแข็งขั้วโลก บ้านของหมีขั้วโลก 

ก่อนเข้าถ้ำเด็กๆ จะถูกยั่วด้วยถ้ำเล็กๆ ที่มีช่องให้เด็กสำรวจลงลึกภายในถ้ำจะเจอทั้ง ค้าง คาว นกนางแอ่น หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน มด แมลง ปลาตาบอด เพื่อบอกให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องรักษาถ้ำเอาไว้

 

หนูขนเสี้ยนเขาหินปูนโชว์ครั้งแรกในรอบ 16 ปี 

สุชาดา คำหา นักวิชาการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เล่าถึงนิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ พร้อมบอกว่า เป้าหมายคือให้เด็กๆ ได้มาสัมผัส เรียนรู้ถ้ำ สัตว์ พืชในถ้ำใช้ทักษะ และประสาทสัมผัส เห็นของจริงจากสัตว์ และพืชดาวเด่นหายากในถ้ำถึง 30 ชนิดที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะหากใครลอดถ้ำแล้วไม่เห็นตัวดาวเด่นคือ หนูขนเสี้ยน อาจจะพลาดโอกาส

เป็นครั้งแรกที่นำเอาสัตว์ และพืชหายากและไม่เคยนำออกโชว์ที่ไหนมาก่อน แต่อพวช.นำมาจัดแสดง ถือเป็นดาวเด่นในถ้ำที่เคยสำรวจพบถึง 33 ชนิด เช่น หนูขนเสี้ยนเขาหินปูนที่พบแห่งเดียวที่ จ.สระบุรี ไม่เจอตัวมานานกว่า 16 ปี เป็นสัตว์สตัฟฟ์ที่เก็บตัวอย่างไว้เพียงไม่กี่ตัว

 

นอกจากนี้ยังมีสัตว์แปลกในถ้ำอื่นๆ เช่น จงโคร่ง ซึ่งเป็นคางคกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย อยู่ในถ้ำเพื่อหลบอากาศร้อน  แมงมุมแสงอาทิตย์  กิ้งกือเส้นก๋วยเตี๋ยวถ้ำที่มีขนาดเล็กจนต้องใช้แว่นขยายส่องดูถึงจะเห็น ปลาค้อตาบอด งูขาวเจ้าที่ หรืองูกาบหมากหางนิล ค้างคางแวมไพร์แปลงเล็ก ฟันแพนด้ายักษ์ เม่นหางพวง รวมทั้งยังมีกลุ่มหิน และแร่หายาก

 

เปลี่ยนมุมมองถ้ำลึกลับ สู่ความตื่นเต้น 

สุชาดา บอกว่า ตัวอย่างของจริงส่วนใหญ่ นำมาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และบางส่วนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา รวมทั้งหิน และแร่หายาก จากกรมทรัพยาธรณี ทำให้การเข้าถ้ำครั้งนี้จะได้เห็น และพบเรื่องราวในหลากหลายมิติ 

ซึ่งเด็กๆ จะได้เปลี่ยนมุมมอง และความคิดเกี่ยวกับถ้ำ เดิมอาจมองว่าถ้ำน่ากลัว แต่ถ้าได้มาลอดถ้ำแล้ว จะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งศาสตร์ทางด้านธรณีวิทยา บรรพชีวิน โบราณคดีและได้รู้ว่าทุกคนอาจใช้ประโยชน์จากถ้ำตั้งแต่ตื่นนอน นั่นก็คือน้ำที่ผลิตจากถ้ำที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ  

ประเทศไทยมีการสำรวจถ้ำ 5,000 แห่งแต่การศึกษาวิจัยในถ้ำอย่างเป็นระบบทำได้น้อยมาก ขณะที่ระบบนิเวศถ้ำ ถือเป็นระบบที่เปราะบาง หากถ้ำเพียงแห่งหนึ่งถูกทำลาย จะฟื้นฟูยาก และอาจหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่จะสูญเสียไปด้วย

 

ด้านนายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการ อพวช. กล่าวว่า สำหรับหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน เป็นหนูที่อาศัยในถ้ำจากการวิจัยที่รายงานโดยไบโอเทค นำโดยนายสุรชิต แวงโสธรณ์ และคณะนักวิจัย ที่ศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ที่พื้นที่ถ้ำแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี พบประชากรเพียง 6 ตัว สาเหตุถูกรบกวนจากกิจกรรมของคน ทำให้มีจำนวนลดลงอย่างมาก และบ่งชี้ว่าสัตว์ตัชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์

 

สำหรับงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปี 2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 17-21 ส.ค. นี้ ที่อาคาร 9-10 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งในแต่ละวันจะรองรับเด็กๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการราว 16,000 คนต่อวัน ซึ่งจะมีไฮไลต์งาน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทย นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก

นิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ เป็นการเปิดพรมแดนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ นิทรรศการคิดเพื่อคุณ ให้เด็กๆเรียนรู้ ทำความเข้าใจต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง