ผู้เลี้ยง "ปลาเรืองแสง" วอนทบทวนคำสั่งห้ามเพาะเลี้ยง

ภูมิภาค
29 ส.ค. 65
06:26
2,286
Logo Thai PBS
ผู้เลี้ยง "ปลาเรืองแสง" วอนทบทวนคำสั่งห้ามเพาะเลี้ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาเสือเยอรมันและปลาม้าลาย หรือ "ปลาเรืองแสง" รวมตัวเรียกร้องให้กรมประมงทบทวนประกาศห้ามเพาะเลี้ยง ที่จะมีผลในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ขณะเกษตรกรหลายรายอาจต้องหมดตัวหากมีประกาศห้ามเพาะเลี้ยง

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2565 เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและจำหน่ายปลาเสือเยอรมัน และปลาม้าลาย ประมาณ 100 คน ได้มารวมตัวกันที่ สุดใจฟาร์ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อประชุมหาแนวทางแก้ปัญหา หลังจากกรมประมงได้ออกมาประกาศเตือนให้ผู้ที่มี “ปลาเรืองแสง” ซึ่งเป็นปลาที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม GMOs ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ต้องนำส่งมอบคืนสำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.2565 โดยผู้ที่ฝ่าฝืนมีไว้ในครอบครองจะมีโทษทั้งจำคุก ไม่เกิน 1 - 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 - 2 ล้านบาท

อ่านข่าว : "ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs ใครมีให้คืนกรมประมง

 

นายสุชาติ แซ่เฮง เกษตรกร กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงและส่งจำหน่ายปลาเสือเยอรมันและปลาม้าลายมาแล้วกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ราชบุรี และนครปฐม มีเกษตรกรรวมหลายร้อยราย มีการส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาเซียน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งนิยมนำไปเลี้ยงในตู้ปลาตามบ้าน โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร เพื่อความสวยงาม สร้างรายได้เข้าประเทศหลายร้อยล้านบาทต่อปี

 

กระทั่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรต่างประสบปัญหาตลาดปลาสวยงามซบเซา ต้องแบกภาระต้นทุน บางรายต้องกู้หนี้ยืมสินมาพยุงกิจการ และหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมเมื่อช่วงเดือน ก.ค. เป็นต้นมา ตลาดปลาสวยงามก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ประกาศของกรมประมง มีผลทำให้เกษตรกรหลายรายต้องถึงขั้นหมดตัว

เหตุใด ก่อนที่จะมีการร่างกฎหมาย หรือประกาศบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงไม่เคยเรียกประชุมขอความคิดเห็น และชี้แจงให้เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบทราบ ให้เกษตรกรได้มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์

 

ด้าน น.ส.จิราพร สร้อยแสง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงาม กล่าวว่า ครอบครัวตนเพาะเลี้ยงปลาเสือเยอรมันและปลาม้าลายมาแล้วกว่า 10 ปี เริ่มจากซื้อพ่อแม่พันธุ์มาจากในตลาดปลาสวยงาม แล้วนำมาขยายต่อ จนปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 100,000 ตัว ในส่วนของการจำหน่ายมีตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 3 บาท

แต่หลังจากที่กรมประมงมีประกาศออกมา ส่งผลให้ลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ไม่กล้าสั่งซื้อ ทางฟาร์มจึงระงับการเพาะพันธุ์ชั่วคราว แต่ปลาที่ยังมีอยู่ในบ่อ ต้องเลี้ยงอาหารทุกวัน ทำให้ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง โดยส่วนตัวทางฟาร์มเข้าใจและพร้อมทำตามกฎหมาย เพียงแต่ที่ผ่านมา ทางฟาร์มไม่เคยได้รับการประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ในขณะที่กรมประมงให้นำส่งคืน โดยที่ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของค่าชดเชย ทำให้ทางฟาร์มต้องคิดหนัก เพราะในการส่งคืนก็มีเรื่องของค่าใช้จ่าย ทั้งการจับ การแพ็ค และขนส่ง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ส่วนของประกอบการอาชีพ หากจะหันไปเลี้ยงปลาสายพันธุ์อื่น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการหาตลาดใหม่ และต้องแข่งกับเกษตรกรรายอื่น ๆ

 

ทั้งนี้ หลังจากที่เกษตรกรได้พูดคุย และรวบรวมข้อมูลในส่วนของสมาชิกที่ร่วมประชุมพบว่า ณ ปัจจุบันมีปลาทั้ง 2 ชนิด รวมกว่า 10 ล้านตัว มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยกลุ่มเกษตรกรได้มีมติร่วมกัน จัดทำหนังสือยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวน และชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีการรับฟังความเห็นของเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง