"กกต." ย้ำยึดระเบียบหาเสียงเดิม หลังช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้ง

การเมือง
23 ก.ย. 65
11:28
2,694
Logo Thai PBS
"กกต." ย้ำยึดระเบียบหาเสียงเดิม หลังช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กกต.ย้ำ ยึดระเบียบหาเสียงเดิม หลังเข้าช่วง 180 วัน ขึ้นป้ายหาเสียง - ต้อนรับรัฐมนตรี หากไม่ถูกระเบียบต้องปลดออก ด้าน "สมชัย" ตั้งคำถาม กกต.แนวปฎิบัติที่ชัดเจนป้ายหาเสียงแฝงต้อนรับนักการเมือง

วันนี้ (23 ก.ย.2565) นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต.กล่าวถึงการประกาศหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองได้ทราบและปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมในช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้งซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.ว่า ทุกอย่างยึดตามระเบียบเดิม

นายแสวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะเวลา 180 วัน อาจเป็นเงื่อนเวลายาวนานจึงเป็นปัญหา และมีโอกาสกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ เพราะเท่ากับว่าเข้าโหมดเลือกตั้ง 100% เช่น การประชุมใหญ่พรรค การทำไพรมารีโหวต การเปิดตัวผู้สมัคร หรือ ทำโครงการต่าง ๆ การลงพื้นที่หาเสียง จัดกิจกรรมของพรรคการเมือง ที่ไม่สามารถให้ค่าใช้จ่ายค่ารถให้ผู้เข้าร่วมได้

หากมีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการหาเสียงต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายพรรคทั้งหมด พร้อมยกตัวอย่างการช่วยเหลือน้ำท่วมก่อน 180 วัน สามารถให้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินต้องรวมเป็นค่าใช้จ่ายพรรค

แต่ถ้าหลัง 180 วันไม่ได้เลย เช่นเดียวกับการติดป้ายหาเสียง หลัง 24 ก.ย. ต้องทำให้ถูกกฎหมายตามประกาศต้องยึดตามระเบียบทั้งขนาด จำนวน และสถานที่

ส่วนป้ายของส่วนราชการในการให้การต้อนรับ รัฐมนตรีและมีผลงานของพรรคการเมืองรวมอยู่ด้วย ก็ต้องยึดหลักเดิมคือ ถ้าเป็นงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ในการทำ

แต่ถ้าเกินอำนาจต้องมาดูข้อเท็จจริง ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีว่า เข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่ ซึ่งราชการต้องระมัดระวังว่าอยู่ในอำนาจสามารถทำได้หรือไม่

ถ้าเป็นป้ายหาเสียง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค แต่ต้องไปดูว่าใช้จ่ายเงินจากราชการ เอกชน หรือเงินของใคร ทั้งนี้หากสิ่งใดที่ไม่มั่นใจ ไม่กล้าทำก็ไม่ต้องทำ และต้องยึดตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

นายแสวง ยังกล่าวถึงการจัดระดมทุน พรรคการเมืองยังทำกิจกรรมได้ หรือการหาเสียงทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าแต่ละพรรคน่าจะเข้าใจ ในรายละเอียด เช่นเรื่องการจัดเลี้ยงที่ช่วงนี้ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เพราะเหมือนอยู่ในโหมดหาเสียง

แต่หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะมีความเข้มข้นขึ้น ส่วนกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นนักการเมือง ก็ต้องเข้าสู่ระเบียบดังกล่าวเช่นกันแต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เช่นเคย โดยเฉพาะการดูแลประชาชนบริการประชาชน ทั้งนี้ หากมีการยุบสภาฯ ก็จะต้องนับเงื่อนเวลาเริ่มต้นใหม่เพราะต่างกันแล้ว

นายแสวง ยังย้ำถึงกรณีที่ยังไม่ได้ประกาศเขตเลือกตั้งในประกาศระเบียบระบุไว้ว่าให้อ้างอิงเขตเลือกตั้งเดิมก่อน พร้อมยืนยันไม่ได้ห่วงวิธีการหาเสียง แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องทำไพรมารีโหวตเท่านั้น

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการที่ กกต.ออกแนวปฏิบัติเรื่องวิธีการหาเสียง ฉบับที่ 3

ที่กำหนดให้การติดป้ายหาเสียงของผู้ประสงค์จะสมัคร ส.ส.ก่อนหน้าที่จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สามารถติดป้ายหาเสียง ตามขนาด จำนวน และสถานที่ ตามที่ กกต. หรือ ผอ. กกต. จังหวัด ประกาศในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

แปลว่า ใช้ขนาด จำนวน และสถานที่ติดป้ายตามการเลือกตั้งปี 2562 ขนาดคือ 1.2 x 2.4 ม. จำนวน คือ ไม่เกิน 2 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ

สถานที่ตามประกาศของ ผอ.กกต.จังหวัดว่า ที่ใดอนุญาตให้ติดได้ซึ่งเกิดคำถาม คือ ป้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าจำนวนซึ่งติดในที่ที่ไม่ตรงประกาศ เช่น ป้ายของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ในภาคอีสาน ป้ายของ "นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ที่เป็นบิลบอร์ดขนาดยักษ์ต้องนำลงทั้งหมดใช่หรือไม่

รวมถึงป้ายของราชการที่แฝงการหาเสียงที่มีขนาดใหญ่โต เช่น ป้ายยินดีต้อนรับรัฐมนตรีที่มาตรวจราชการ ป้ายแสดงผลงานของกระทรวงที่มีรูปรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ป้ายเหล่านี้จะถือเป็นป้ายหาเสียง หรือ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงหรือไม่ รวมทั้งเขตเลือกตั้งใหม่ มี 400 เขตในขณะที่ปี 2562 มี 350 เขต จะยึดตามของเดิมอย่างไร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง