สัปดาห์หน้า "ครูหยุย" หารือองค์กรเด็ก ป้องกันซ้ำรอย "กราดยิงหนองบัวลำภู"

การเมือง
7 ต.ค. 65
14:40
244
Logo Thai PBS
สัปดาห์หน้า "ครูหยุย" หารือองค์กรเด็ก ป้องกันซ้ำรอย "กราดยิงหนองบัวลำภู"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปธ.กมธ.พัฒนาสังคมและกิจการเด็ก วุฒิสภาเผย สัปดาห์หน้าเตรียมหารือองค์กรด้านเด็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันเหตุฆาตกรรมหมู่ พร้อมแนะทบทวนกฎหมายครอบครองอาวุธปืนและการพกพา ตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแก้ปัญหาผู้มีความเครียดในชีวิต

วันนี้ (7 ต.ค.2565) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ "มุมการเมือง" ทางไทยพีบีเอส ถึงแนวทางในการป้องกันเหตุรุนแรง หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมหมู่ที่ จ.หนองบัวลำภู จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

นายวัลลภ กล่าวว่า เหตุดังกล่าวถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด ผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต่างก็รู้สึกตกใจอย่างมากต่อเหตุดังกล่าว ซึ่งมีปัจจัยหลายด้าน ไม่ใช่เพียงเรื่องของยาเสพติดเท่านั้น เช่น อาวุธปืน หรือ ความคับแค้นใจ จนทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น

องค์กรด้านเด็กหารือแนวทางป้องกัน

ขณะนี้ พยายามมองไปข้างหน้า โดยในช่วงสัปดาห์หน้า องค์กรด้านเด็กจะมีการประชุมใหญ่โดยตนเองเป็นประธานหารือในเรื่องนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกในหลายมิติทั้ง กฎหมาย การใช้ยาเสพติด การใช้อาวุธปืน การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง

เบื้องต้นแนวทางการป้องกันต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่เคยประกาศเช่น เมื่อ 2 ปี ก่อน ที่มีการประกาศให้สามารถมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้ง่ายขึ้นซึ่งต้องกลับมาทบทวนอย่างหนัก

รวมถึงกลไกเรื่องของยาเสพติดในกรณีของผู้เสพหรือผู้ป่วยอาจต้องมองลึกไปกว่านั้น และกลไกในการดูแลด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะให้มนุษย์มีทางออกในทางอารมณ์มากขึ้นซึ่งพยายามใช้กลไกเดิมในการปิดช่องโหว่นี้ไว้ก่อน

นายวัลลภ ยังกล่าวว่า หลังผ่านมา 2 ปี จากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา มีข้อเสนอจำนวนมากแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย กลไกความรุนแรงที่ยังมีอยู่ และกลไกการลืมความรุนแรงมันมีอยู่

ข้อเสนอ ที่เสนอไว้ คือ 1.กลไกของบุคคลที่มีอำนาจในมือที่จะสามารถพกพาอาวุธได้ ซึ่งน่ากลัวที่สุด กลไกเรื่องสุขภาพจิตที่เข้าสู่กลไกการใช้อำนาจที่ต้องดูแลให้มาก รวมถึงการครอบครองอาวุธปืน

นอกจากนี้ ต้องมีกลไกที่สามารถให้เป็นที่พึ่งในทางความรู้สึกได้ เช่นในอดีตที่มีศูนย์ปรึกษาปัญหาครอบครัวกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับเด็กที่มีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

รวมถึงกรณีศูนย์นิรนาม ที่ให้คำปรึกษากับผู้ที่ติดโรคเอดส์ ซึ่งขณะนี้หายไปหมดแล้ว กลไกเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้

ตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแล

นายวัลลภ ยังกล่าวว่า จาก 2 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งที่ จ.นครราชสีมา และ จ.หนองบัวลำภู หลายภาคส่วนจะต้องร่วมหารือและเสนอกลไกที่เป็นรูปธรรมที่สุดและดำเนินการได้อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด ส่วนใดที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ก็ควรทำทันที

รวมถึงกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าสู่สภาฯ หรือ หน่วยงานพิเศษที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ตรวจสุขภาพจิตผู้ครอบครองปืนทุกปี

นายวัลลภ ยังกล่าวว่า ขณะที่แนวทางการหารือกับหน่วยงานความมั่นคง เนื่องจากผู้ก่อเหตุในเหตุสะเทือนขวัญที่ผ่านมา ทั้งที่ จ.นครราชสีมา และ จ.หนองบัวลำภู ผู้ที่ก่อเหตุเป็นทั้งทหารและอดีตตำรวจ ซึ่งดำเนินการไม่ง่ายนัก เนื่องจากขณะนี้ไม่ทราบว่าคนทั้งประเทศมีบุคคลที่มีภาวะความเครียดและเก็บกดมีจำนวนมาก-น้อยเท่าใด และอยู่ที่ใดบ้าง ดังนั้น ต้องจำกัดไปที่ผู้ที่มีอำนาจและใช้อาวุธซึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ

ในหลายประเทศในทุกปีจะมีการตรวจสุขภาพจิตของบุคคลที่มีอาวุธปืนอยู่ในมือ ซึ่งผู้ที่มีอาวุธปืนในครอบครองและใช้อาวุธปืนจะต้องได้รับการดูแลสภาวะจิตมากกว่าคนกลุ่มอื่น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง