นักวิชาการแนะ "นักข่าว" ไม่ถามย้ำความสูญเสีย เหตุโศกนาฏกรรม

สังคม
10 ต.ค. 65
20:36
479
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะ "นักข่าว" ไม่ถามย้ำความสูญเสีย เหตุโศกนาฏกรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการแนะสื่อมวลชนทำข่าวโศกนาฏกรรม ต้องใช้หลักเคารพสิทธิเสมอ พร้อมเสนอก่อนสัมภาษณ์ผู้สูญเสีย ควรมีจิตแพทย์ประเมินความพร้อม เพื่อช่วยลดทอนความเสียหายภายในจิตใจหลังสื่อมวลชนจากไป

วันนี้ (10 ต.ค.2565) ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนจากเหตุฆาตกรรมหมู่ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ผ่านรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอสว่า การนำเสนอข่าวครั้งนี้ หลายสำนักข่าวมีแนวทางที่ชัดเจน ไม่เสนอภาพที่เกิดเหตุ ไม่สัมภาษณ์ผู้สูญเสีย ขยับประเด็นการนำเสนอให้ต่างออกไป ด้วยการตั้งคำถามเพื่อแก้ปัญหาและการป้องกันเหตุในอนาคต

แต่สำหรับบางสำนักข่าวยังน่าเป็นห่วง มีการเสนอภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ แม้จะมีการเบลอภาพ แต่ก็สามารถมองเห็นได้ว่าเป็นภาพอะไร ซึ่งสื่อไม่ควรใช้ภาพดังกล่าว ไม่จำเป็นที่ต้องให้สังคมเห็นว่าภาพในที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร เพราะภาพเหล่านี้มีส่วนทำร้ายผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เด็ก และครอบครัวผู้สูญเสียอย่างซ้ำ ๆ

บางสื่อหลีกเลี่ยงใช้ภาพจริง แต่เล่าเรื่องราวผ่านภาพจำลองเหตุการณ์ พร้อมเล่าเรื่องราวอย่างละเอียด วิธีการนี้ก็เป็นการตอกย้ำและทำร้ายผู้สูญเสียเช่นกัน

แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านไปแล้ว แต่การนำเสนอข่าวแบบดังกล่าวมันจะยังคงอยู่ มันจะยิ่งไปตอกย้ำความทรงจำของผู้สูญเสีย

ทั้งนี้ การเสนอข่าวด้วยการเล่าเรื่องราวอย่างละเอียด จะทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ ซึ่งสื่อมวลชนต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ ว่ารู้แล้วจะเกิดประโยชน์หรือไม่ จำเป็นต้องให้ข้อมูลอย่างละเอียดหรือไม่

ผศ.สกุลศรี แนะนำว่าน่าจะต้องมีมาตรการใหม่เกิดขึ้นสำหรับข่าวโศกนาฏกรรม ก่อนที่สื่อมวลชนจะสัมภาษณ์ผู้สูญเสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรมีจิตแพทย์ประเมินสภาพจิตใจก่อนว่ามีความพร้อมที่จะให้ข้อมูลมากน้อยเพียงใด รวมทั้งพวกเขาต้องรู้ว่า ถ้ามีคนถามคำถาม เขาต้องรับมือกับความรู้สึกนั้นอย่างไร ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดทอนความเสียหายที่สื่อมวลชนทิ้งไว้หลังเหตุการณ์สงบได้

ขณะที่แนวคำถามของสื่อมวลชน ต้องไม่เป็นคำถามที่ตอกย้ำความรู้สึก ควรเป็นทำถามที่มองไปข้างหน้า ซึ่งสื่อมวลชนอาจปรึกษาคำถามกับจิตแพทย์ก่อนว่าคำถามแบบไหนจะไม่กระทบจิตใจกับผู้สูญเสียหรือผู้เกี่ยวข้อง

นักข่าวสัมภาษณ์เพียง 5-10 นาที แต่ผู้สูญเสียจะต้องอยู่กับคำถามนั้น แล้ววนอยู่ในหัวซ้ำ ๆ หลังจากที่นักข่าวเดินจากไป ซึ่งนักข่าวไม่รู้เลยว่าทิ้งอะไรไว้ในจิตใจเขา ซึ่งต้องระมัดระวัง

ผศ.สกุลศรี กล่าวถึงการเสนอภาพความโศกเศร้าของผู้สูญเสียในเหตุโศกนาฏกรรมว่า สื่อมวลชนไม่ควรเสนอภาพร้องไห้ของผู้สูญเสียในทันที ยังควรต้องมีมาตรการพูดคุยก่อน ซึ่งผู้สูญเสียต้องรู้ว่าภาพดังกล่าวจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อเขาอย่างไร เขาสามารถเลือกได้

สื่อจำเป็นต้องใช้ภาพนั้นหรือ คนก็รู้อยู่แล้วว่า เขาสูญเสีย เขาเจ็บปวด ไม่เห็นคราบน้ำตา ก็สามารถสะท้อนเหตุการณ์ได้

ผศ.สกุลศรี ย้ำว่าการเสนอข่าวใด ๆ ต้องใช้หลักเคารพสิทธิผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอ ขณะเดียวกันได้กล่าวทิ้งท้ายสำหรับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วยว่า เมื่อเราสามารถใช้ปลายนิ้วทำสื่อได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องใช้แนวคิดเดียวกับสื่อมวลชน ซึ่งเราสามารถสร้างมาตรฐานการใช้สื่อออนไลน์ร่วมกันได้ โดยเน้นคิดถึงใจเขาใจเรา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง