ตัวย่ออักษรภาษาอังกฤษ ตัวเลขที่ติดกันยาวๆ 6-8 หลัก พิมพ์เรียงกันอัดแน่นเป็นตัวเล็กๆ ใน 1 บรรทัด ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร ทั้งอาหารแห้ง หรือ อาหารแช่แข็ง
แต่นี่คือปัญหาที่สร้างความสับสน น่าหงุดหงิดใจให้แทบทุกบ้าน ทุกครอบครัว
ทำไมสินค้าตัวนี้ใช้คำว่า EXP... ตัวนี้ใช้ BBE… คำถามที่เกิดขึ้นในใจเสมอ เมื่อคิดจะหยิบอาหารบรรจุภัณฑ์ เช่น อาหารแห้ง อาหารแช่แข็งสักอย่างมาเพื่อทำอาหารต่อไป
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมตัวย่อเจ้าปัญหา มาไขข้อกระจ่างให้เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจและสามารถตัดสินใจได้ว่า อาหารบรรจุภัณฑ์ห่อนี้ ควรเอาไปปรุงอาหารต่อ หรือหย่อนทิ้งลงถังขยะดี
ตัวย่อวันที่บนฉลากผลิตภัณฑ์มีอยู่ 2 ประเภท คือ
วันหมดอายุ และ วันควรบริโภคก่อน
ถูกนำมาใช้เพื่อบ่งบอกถึงอายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่แตกต่างกันด้วยเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
วันหมดอายุ พูดถึง ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
วันควรบริโภคก่อน พูดถึง คุณภาพของผลิตภัณฑ์
วันหมดอายุ = ห้ามกิน อันตราย เสี่ยงท้องเสีย
Use by เช่น Use by 12102022
EXP = Expiry Date เช่น EXP12/10/22
EXD = Expiration Date เช่น EXD121022
หมายความว่า หลังวันที่ 12 ต.ค. ค.ศ.2022 ห้ามกินแล้ว ควรทิ้ง
ควรบริโภคก่อนวันที่ = ยังกินต่อไปได้ แต่คุณภาพลดลง
BBE = Best Before End เช่น BBE12102022
BBD = Best Before Date เช่น BBD20221012
BBF = Best Before Use เช่น BBF12/10/22
Best by เช่น Best by 12/10/22
หมายความว่า ควรกินก่อนวันที่ 12 ต.ค. ค.ศ.2022 ถ้าหลังวันที่ 12 ไปแล้ว ก็ยังกินได้อยู่ แต่อาจจะไม่อร่อย รูปร่าง ผิวสัมผัสของอาหารอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง
ส่วนรูปแบบการจัดเรียง วัน เดือน ปี ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ขึ้นอยู่กับโรงงานผลิต
จึงเกิดเป็นคำถามต่อมาอีกว่า แล้วจะเอาอะไรมาตัดสินใจว่า ถ้าอาหารที่ใช้ BBE, BBD, BBF หรือแม้กระทั่ง Best by เมื่อมาถึงวันที่กำหนดในฉลากแล้ว
แล้วมีอายุอีกนานแค่ไหนกว่าที่จะ “เสีย” หรือนำไปบริโภคต่อไม่ได้แล้วจริงๆ
คำตอบนี้ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ต้องอาศัยการเก็บที่เหมาะสมและการตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นเครื่องตัดสิน
หากพบว่าอาหารที่จะนำมาใช้ถึงกำหนดวันแล้ว ให้ลองสังเกตด้วยตาว่า สี รูปร่าง เปลี่ยนไปมาหน้อยหรือไม่ ลองดมกลิ่นว่ามีกลิ่นเหม็นหืน กลิ่นบูดขึ้นมาหรือไม่ แต่ไม่แนะนำให้ชิม เพราะอาจจะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายได้หากอาหารนั้นเสียแล้วจริงๆ
อายุโดยเฉลี่นของอาหารแต่ละประเภท
• ไข่ เก็บในตู้เย็น ที่อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส จะอยู่ได้นานประมาณ 3-5 สัปดาห์
• อาหารกระป๋อง อาหารกระป๋องมักจะอยู่ได้ประมาณ 1 ปีนับจากวันที่ผลิต
• ขนมปังแผ่น ในอุณหภูมิปกติ เก็บได้ 3-5 วัน แต่ถ้าเก็บในตู้เย็น จะอยู่ได้นานขึ้น 2 สัปดาห์
• ซีเรียล เก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานถึง 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ถ้าพบว่าสีสัน กลิ่น ความกรอบ ลดลงก็ให้ทิ้ง
จึงเป็นที่มาของ ตัวย่อ MFG = manufacturing date หรือวันผลิต อีก 1 ตัว
วันผลิตจะ คู่กับ วันหมดอายุ เสมอ เช่น
MFG 12102020
EXP 12102022
หมายถึง ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ มีอายุ 2 ปีนับจากวันผลิต แต่ก็จะมีข้อความกำกับเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเปิดแล้วควรรับประทานให้หมดภายใน 3-5 วัน
เพราะอาหารแช่แข็ง หรือ อาหารที่ผ่านกรรมวิธีก่อนนำมาจำหน่าย เมื่อแกะถุงแล้ว อากาศจะเข้าไป และทำให้เกิดปฏิกิริยากับอาหารในนั้น เร่งทำให้อาหารเน่าเสียได้ไวขึ้น
ดังนั้น การจะเลือกหยิบอาหารสักอย่างมาปรุงหรือมารับประทาน นอกจากต้องเข้าใจวันที่บนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว ต้องอาศัยการเก็บรักษาที่ดี รวมกับประสบการณ์ ในการตัดสินใจ วันผลิต วันหมดอายุ วันที่ควรบริโภคก่อน เป็นเพียงกรอบเวลาที่กำหนดอายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ที่จะสามารถกินอย่างเอร็ดอร่อยและได้ประโยชน์มากที่สุดเท่านั้น
การรู้จักความหมายของตัวย่อวันที่แต่ละตัว จะช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้า เก็บรักษาสินค้า รวมไปจนถึงการทิ้งสินค้า ได้ในปริมาณที่เหมาะสมมากขึ้น เพื่อลดปริมาณ “ขยะอาหาร” หรืออาหารที่ถูกทิ้งโดยไม่จำเป็นลงได้
เปรียบเทียบเช่น หากในตู้เย็นมีอาหารแช่แข็ง 2 ชนิด
ชนิด A เขียนกำกับด้วย EXP
ชนิด B เขียนกำกับด้วย BBE
ก็ต้องเลือกกิน EXP ก่อน BBE เพราะ BBE เป็นเพียงตัวที่บอกว่า หลังจากวันที่กำหนดไป รสชาติ สี กลิ่น จะเริ่มเปลี่ยน แต่ยังสามารถกินได้อยู่เพียงเท่านั้น