เปิดรายงานลับ RCI ผลสอบสวน “ค่ายมรณะ” ค้าชาวโรฮิงญา ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย

อาชญากรรม
20 ต.ค. 65
15:29
312
Logo Thai PBS
เปิดรายงานลับ RCI ผลสอบสวน “ค่ายมรณะ” ค้าชาวโรฮิงญา ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
RCI มาเลเซีย เปิดรายงานลับผลสอบสวน “ค่ายมรณะ” ค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา บนภูเขา “Bukit Wang Burma” เทือกเขาเดียวกับที่ประเทศไทย เคยพบหลุมศพและค่ายพักพิงชั่วคราวบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อปี 2558

ปี 2558 ประเทศไทยตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จากการตรวจสอบพบหลุมศพขนาดใหญ่และค่ายพักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญาบนเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งตั้งอยู่รอยต่อระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย ค่ายพักแห่งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าขบวนการค้ามนุษย์ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาแบบไร้มนุษยธรรมอย่างไร

ไม่ไกลกัน ทางการมาเลเซียตรวจสอบพบหลุมฝังศพและค่ายพักพิงชั่วคราวในลักษณะเดียวกันบนภูเขา “Bukit Wang Burma” เมืองเกอเลียน รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ด้วยเช่นกัน หากดูจากแผนที่จะพบว่าที่ตั้งค่ายพักพิงและหลุมฝังศพของทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนเทือกเขาเดียวกัน เพียงแค่อยู่คนละฝั่งเขตแดนประเทศ

จากการค้นพบครั้งนั้น ทำให้แต่ละประเทศตั้งชุดสืบสวนเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อสืบสาวหาขบวนการค้ามนุษย์ที่นำพาชาวโรฮิงญา มาพบจุดจบที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ผลการสืบสวนฝั่งไทยสาวไปถึง พลโทมนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของกองทัพบก ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำไปแล้วเมื่อปี 2564 พร้อมด้วยจำเลยคนอื่นๆ อีก 103 คน ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น และคนท้องถิ่น ที่รับหน้าที่เป็นผู้นำพา ขณะที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสืบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ ขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศออสเตรเลียจนถึงปัจจุบัน

ภาพค่ายพักพิงชั่วคราวบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา

ภาพค่ายพักพิงชั่วคราวบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา

ภาพค่ายพักพิงชั่วคราวบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา

ทางด้านประเทศมาเลเซียตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน คณะกรรมาธิการชุดนี้มีชื่อว่า The Royal Commission of Inquiry หรือ RCI โดยการสืบสวนเสร็จสิ้นไปเมื่อปี 2562 และตีพิมพ์รายงานจำนวน 211 หน้า ออกมาเพื่อเสนอต่อรัฐบาลมาเลเซีย

รายงานฉบับนี้ไม่เคยถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะถือว่าเป็นเอกสารลับมาโดยตลอด จนกระทั่งในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา รายงานฉบับดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย

รายงานการสืบสวนของ RCI โดยสรุป ระบุว่า การทรมานและการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและคนอื่นๆ ในวังเกอเลียน (Wang Kelian) “สมควรได้รับการขัดขวางจากทางการมาเลเซีย” และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของมาเลเซียยังไม่ปฏิบัติงานตามขั้นตอนมาตรฐานของตนเอง อันส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพการสืบสวนที่เกิดขึ้นในวังเกอเลียน

รายงานระบุว่า หลังจากการตรวจพบ “ค่ายมรณะ” บนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาโดยทางการมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 สามเดือนต่อมา เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบว่า มีศพมนุษย์อยู่ในหลุมศพหรือไม่ ในวันที่ 6 มี.ค. 2558 และใช้เวลาอีกหลายเดือน เพื่อขุดหลุมฝังศพและนำศพมาชันสูตรพลิกศพสภาพของเหยื่อ โดยเริ่มทำงานในวันที่ 24 พ.ค. 2558 ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นผลจากคำสั่ง “ระงับ” การสอบสวนหลุมฝังศพที่ออกมาโดยหัวหน้าตำรวจรัฐปะลิส เพราะไม่แน่ใจว่าค่ายและหลุมฝังศพอยู่ในฝั่งไทยหรือมาเลเซีย

ภาพหลุมศพที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียพบใกล้กับค่ายพักพิงชั่วคราวบน Bukit Wang Burma วังเกอเลียน รัฐปะลิส

ภาพหลุมศพที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียพบใกล้กับค่ายพักพิงชั่วคราวบน Bukit Wang Burma วังเกอเลียน รัฐปะลิส

ภาพหลุมศพที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียพบใกล้กับค่ายพักพิงชั่วคราวบน Bukit Wang Burma วังเกอเลียน รัฐปะลิส

ผลจากความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตของเหยื่อได้จำนวน 2 ศพ จากทั้งหมด 114 ศพ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ให้สัมภาษณ์กับ RCI ว่า หากมีการชันสูตรพลิกศพก่อนหน้านี้ เขาแน่ใจว่าจะมีความแตกต่างในแง่ของการระบุตัวตนและสาเหตุของการเสียชีวิตของศพ

รายงาน RCI ยังระบุถึงข้อบกพร่องร้ายแรงในการรวบรวมข่าวกรอง การประสานงานข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย รวมถึงการจัดการซากศพมนุษย์และหลักฐานอื่นๆ แม้จะมีความล้มเหลวและความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ RCI ระบุ แต่รายงานนี้กลับไม่ได้มีการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ หรือมีคำแนะนำให้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์

ล่าสุด “ฟอร์ตี้ฟายไรต์” (Fortify Rights) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ให้ทางการมาเลเซีย เปิดการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบและดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่มาเลเซียที่ถูกระบุในรายงานของ RCI ว่า เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนกรณีล่วงละเมิดและสังหารเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในวังเกอเลียน อันเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง