"สิทธิบัตรทอง" เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาฟรีที่ร้านยา

สังคม
4 พ.ย. 65
11:03
51,230
Logo Thai PBS
"สิทธิบัตรทอง" เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาฟรีที่ร้านยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาเภสัชกรรมจับมือ สปสช. ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยาฟรีได้ที่ร้านยา-สังเกตสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ไม่ต้องไปโรงพยาบาล

สภาเภสัชกรรม ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness ) ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่ไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในส่วนของ Common Illness ที่เภสัชกรร้านยาสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้ จะมี 16 กลุ่มอาการ ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะเลือกมาที่ร้านยาแทนการไปโรงพยาบาล

ดังนั้น เมื่อมีร้านยาที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช.แล้ว ผู้ป่วยก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองรับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถไปที่ร้านยาได้ทันที

16 กลุ่มอาการ มีอะไรบ้าง?

1. ปวดหัว
2. เวียนหัว
3. ปวดข้อ
4. เจ็บกล้ามเนื้อ
5. ไข้
6. ไอ
7. เจ็บคอ
8. ปวดท้อง
9. ท้องผูก
10. ท้องเสีย
11. ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะเจ็บ
12. ตกขาวผิดปกติ
13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน
14. บาดแผล
15. ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา
16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ ผู้ป่วยสามารถไปที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือสังเกตจากสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย”

เมื่อเข้าไปแล้ว เภสัชกรจะขอบัตรประชาชนไปเสียบเครื่องอ่าน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นสิทธิบัตรทองหรือไม่ จากนั้นจะซักประวัติและจ่ายยา พร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัวต่างๆ แต่หากเป็นอาการที่ไม่อยู่ใน 16 กลุ่มอาการ เภสัชกรจะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

ระบบของร้านยาจะมีแอปพลิเคชันบันทึกข้อมูล ตัวแอปฯ จะบอกอาการเจ็บป่วยว่าตรงกับมาตรฐานการรักษาหมวดไหน มีรายการยาที่สามารถจ่ายได้ เภสัชกรจะจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และติดตามอาการต่ออีก 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ หากคนไข้อาการไม่ดีขึ้นจะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์

ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเน้นเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จะต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด

เมื่อขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพแล้ว ต้องเข้ารับการอบรมในการดูแลผู้ป่วยและต้องสอบให้ผ่านเกณฑ์ จึงจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรองและสามารถให้บริการดูแลโรคทั่วไปได้

ขณะนี้มีร้านยาผ่านการอบรมแล้ว 800 แห่ง นำรายชื่อขึ้นเว็บไซต์แล้วประมาณ 500 แห่งและจะทยอยขึ้นจนครบ และในเร็วๆ นี้จะมีร้านยาที่ผ่านการอบรมรอบที่ 2 อีกกว่า 1,000 แห่ง รวมแล้วในอนาคตจะมีร้านยาที่ให้บริการโรคทั่วไปกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง