วันนี้ (15 พ.ย.2565) นางนลินี ทวีสิน ประธานคณะทำงานนโยบายด้านต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงกรณีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ว่า
รัฐบาลควรใช้โอกาสในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคเพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยและประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปค ดังนี้
1.การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในกรุงเทพฯ ถือเป็นโอกาสทองของไทยที่จะผงาดในเวทีโลกอีกครั้งหลังจากรัฐบาลได้ละเลยการนำไทยให้มีบทบาทผู้นำในเวทีนานาชาติซึ่งต้องมีความเข้าใจทิศทางของการเมืองระหว่างประเทศ ความต้องการของแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง
สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของนานาประเทศให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติได้ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
พรรคฯมีความเข้าใจและเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จดังที่เคยปรากฎมาแล้วในอดีตสมัยรัฐบาลไทยรักไทย
ภายใต้การนำของ นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เมื่อเดือน ต.ค.2546 ได้ใช้ยุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่หลากหลาย รวมทั้งขยายไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ อาทิ ACD และ ACMECS มาแล้ว
2. โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" (บีซีจี) หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่ไทยต้องการมากกว่านั้น "BCG" อาจเป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศต้องการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
แต่รัฐบาลควรใช้เวทีเอเปคเป็นโอกาสในทางการทูต แสดงศักยภาพเป็นผู้นำในการสมานฉันท์รอยร้าวระหว่างประเทศที่จะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการบรรลุเป้าหมายทางการค้าโดยรวมของประเทศสมาชิก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นต้น
รัฐบาลยังควรใช้โอกาสนี้ในสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับกลุ่มอาเซียน ผลักดันให้เมียนมาเปิดการเจรจาในประเทศ ยุติความรุนแรง เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาค เปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้า เพราะ “สันติภาพ” คือ กุญแจสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาค หากไร้ซึ่งสันติภาพแล้ว เป้าหมายทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็คงไม่สามารถบรรลุได้
3. การประชุมเอเปคเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและอีกหลายประเทศ การร่วมประชุมของประธานธิบดีสีจิ้นผิงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาราเบีย
ทว่ารัฐบาลควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สมดุลในสายตาของต่างประเทศ
การเปลี่ยนวันจัดงานกาลาดินเนอร์เร็วขึ้นเป็นวันที่ 17 พ.ย.2565 อย่างกะทันหันสร้างความไม่สะดวกให้ผู้นำและผู้แทนอีกหลายประเทศ รัฐบาลควรระวังอย่าให้การบริหารจัดการที่ไม่ลงตัว ผลักมิตรให้กลายเป็นศัตรูในการประชุมครั้งนี้ด้วย
4. ในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ไทยควรเปิดให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) และ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council ABAC) เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็นในการประชุมเอเปคมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมุมมองของภาคธุรกิจคือมุมมองจากผู้มีประสบการณ์ที่จะนำแนวคิดของเอเปคไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง
รัฐบาลจึงควรใช้ภาคเอกชนไทยเป็นหัวหอกสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ไทยสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ ยกตัวอย่างโครงการที่เป็นรูปธรรมอย่าง บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Travel Card) เป็นต้น ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่สิทธิประโยชน์อื่นๆได้อีกมากมาย
จึงขอฝากข้อแนะนำเหล่านี้เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจว่า จะวางบทบาทให้ประเทศไทย เป็นเพียง "ผู้จัด" หรือ "ผู้นำ" ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 นี้