เตือนลอบใส่สเตียรอยด์ในยาชุด อันตรายเสี่ยงร่างกายพัง

สังคม
16 พ.ย. 65
07:00
457
Logo Thai PBS
เตือนลอบใส่สเตียรอยด์ในยาชุด อันตรายเสี่ยงร่างกายพัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อย.เตือนอันตรายยาชุด หมอยาเภสัช ฉลากระบุสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง และพบปนเปื้อนยาสเตียรอยด์ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แนะผู้สูงอายุ หากเจ็บป่วยให้ปรึกษาแพทย์ และซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน

วันนี้ (16 พ.ย.2565) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสว่า พบผลิตภัณฑ์ยาชุดต้องสงสัย ฉลากระบุสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง นอกจากนี้ยังแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม เมื่อนำผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวตรวจสอบด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย พบว่า มีการปนเปื้อนยาสเตียรอยด์ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ทั้งนี้ จะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลต่อไป และจะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดและทางออนไลน์ หากตรวจพบจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัญหายาสเตียรอยด์ถือเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพคนไทยเป็นเวลานาน เป็นเพราะสรรพคุณของยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และกดภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ลักลอบนำไปใส่ในยาชุดหรือนำไปผสมกับสมุนไพรขายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ยาประดง ยาผงสมุนไพร ยากษัยเส้น

ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่หาซื้อยามารับประทานเอง ผู้ขายจะใช้กลยุทธ์กล่าวอ้างเป็นยาสมุนไพรปลอดภัยใช้รักษาสารพัดโรค ทั้งกระดูกทับเส้น ปลายประสาทอักเสบ เหน็บชา เก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ปวดเข่า อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

เมื่อรับประทานยาจะเห็นผลในระยะแรก ๆ แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติที่สังเกตได้ ตั้งแต่มีใบหน้ากลมอูมเหมือนพระจันทร์ มีโหนกที่แก้ม มีหนอกที่คอ ตัวบวมเริ่มมีไตวาย หากหยุดยากะทันหัน อาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกได้

ยาสเตียรอยด์จึงจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ร้านยาขายได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย.

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง