ตร.ไซเบอร์ มอบสำนวนคดีหลอกลงทุน “พี มายเนอร์” ให้ดีเอสไอ

อาชญากรรม
28 พ.ย. 65
16:23
838
Logo Thai PBS
ตร.ไซเบอร์ มอบสำนวนคดีหลอกลงทุน “พี มายเนอร์” ให้ดีเอสไอ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ส่งมอบสำนวนคดีหลอกลงทุนเงินดิจิทัล “พี มายเนอร์” ให้ดีเอสไอหลังรับเป็นคดีพิเศษ คดีนี้มีผู้เสียหายกว่า 1,000 คน เสียหายกว่า 1,200 ล้านบาท เบื้องต้นผู้ต้องหา 4 คน หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

วันนี้ (28 พ.ย.2565) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับมอบสำนวนการสอบสวนคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโตเคอเรนซี่ กรุ๊ป ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนลงทุนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และทำเหมืองขุดบิทคอยน์ จากกองกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หลังจากคณะกรรมการคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษเนื่องจากมีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก

 

นอกจากนั้นยังได้รับมอบของกลางในคดีที่ตำรวจได้ยึดอายัดไว้จากผู้ต้องหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์หรู 4 คัน สินค้าแบรนด์เนม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์กว่า 120 เครื่อง และของกลางอื่น ๆ อีกหลายรายการ รวมมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท ที่ยึดได้จากบ้านพักใน จ.เชียงใหม่

คดีนี้หลังจากตำรวจเปิดรับแจ้งความออนไลน์ มีผู้เข้าแจ้งความแล้วมากกว่า 400 คน และมีผู้เข้าแจ้งความกับดีเอสไออีกกว่า 500 คน ขณะนี้มีผู้เสียหายรวมแล้วมากกว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,200 ล้านบาท

 

ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า หลังจากที่รับสำนวนคดีมาจากตำรวจจะนำพยานหลักฐานและทรัพย์สินทั้งหมดมาตรวจสอบว่ามีข้อมูลใดอยู่บ้างและผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความกับตำรวจไว้มีรายใดที่ตรงกับดีเอสไอหรือไม่ และจะรวบรวมสรุปยอดมูลค่าความเสียหายและทรัพย์สินที่ได้อีกครั้ง

ส่วนผู้เสียหายที่แจ้งความไปแล้ว และยังไม่เคยเข้าแจ้งความจะต้องลงทะเบียนผ่าน QR code ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ www.dsi.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2565 จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2566 เพื่อให้พนักงานสอบสวนแยกแยะผู้เสียหายแต่ละรายและนัดหมายผู้เสียหายที่ยังไม่เคยสอบปากคำเข้ามาให้ปากคำในภายหลัง

เบื้องต้น จากการตรวจสอบพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่ตำรวจนำมามอบให้พบว่า เครื่องขุดบิทคอยน์ที่กลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าใช้เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้เสียหาย ไม่เคยมีการเปิดใช้งานเลยแม้แต่เครื่องเดียว จึงสามารถพิสูจน์ได้ในเบื้องต้นว่า กลุ่มผู้ต้องหาไม่เคยใช้เครื่องและไม่ได้มีการขุดบิทคอยน์ ตามที่โฆษณาชักชวนไว้กับผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ทางดีเอสไอจะตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด และบุคคลอื่นที่อาจจะเกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการออกหมายเรียกตามขั้นตอนต่อไป และเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจมีการโยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนออกนอกประเทศหรือนำติดตัวไปด้วย จึงเตรียมประสานกับตำรวจสากลให้ออกหมายแดงเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดี

ส่วนทรัพย์สินที่ได้บางส่วนจะนำส่งให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการขายทอดตลาดและตรวจสอบทรัพย์เพื่อนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย แต่ในจำนวนนี้มีรถยนต์หรู 2 คัน ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งดีเอสไอยังต้องเก็บรักษาไว้ เนื่องจากรถดังกล่าวถูกใช้ในการโฆษณาชักชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุน จึงเข้าข่ายเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงยังไม่สามารถส่งให้ทาง ปปง. นำไปขายทอดตลาดได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

 

ขณะที่ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 บช.สอท. เปิดเผยว่า ตำรวจขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 4 คน ยึดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 117 บัญชี และทรัพย์อื่น ๆ รวมมูลค่า 112 ล้านบาท ยึดเงินสกุลดิจิตอลได้มูลค่า 21 ล้านบาท

ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมนำทรัพย์สินบางส่วนติดตัวไปด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน และก่อนหน้านี้ได้สอบปากคำผู้เสียหายไปแล้วรวม 400 คน ก่อนจะยึดทรัพย์บางส่วนมาส่งมอบให้กับดีเอสไอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง