บทวิเคราะห์ : โอกาสจีนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19

ต่างประเทศ
30 พ.ย. 65
11:48
185
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : โอกาสจีนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด-19 ในบางพื้นที่แล้ว บางมุมเห็นว่าทนกระแสต่อต้านไม่ไหว หรืออาจจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ เอื้ออำนวยให้ทำได้ โอกาสที่จีนจะยกเลิกมาตรการเข้มงวดทั้งหมดในเร็วๆ จะมีหรือไม่?

หากยังไม่นับความเห็นจากฝั่งรัฐบาล และเพียงแค่ประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ ถือว่าโอกาสที่จะไดเห็นการยกเลิกมาตรการเข้มงวดเรื่องโควิด-19 ของจีนนั้น "ยังยากมาก" เพราะเงื่อนไขพื้นฐานอย่างเช่นเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น ในจีนยังมีอัตราการฉีดอยู่ในระดับต่ำอยู่

ทราบกันดีว่า คนที่จะตกอยู่ในอันตรายมากที่สุด หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ บรรดาผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว ขณะที่วัคซีนถือเป็นเครื่องมือช่วยชีวิตชิ้นสำคัญ แต่สำหรับจีนนั้น ทั้ง 2 ปัจจัยนี้กำลังเข้ามาเป็นอุปสรรคที่ทำให้การผ่อนคลายมาตรการ อาจไม่สามารถทำได้ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด

สังคมสูงวัย-ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนแต่อยู่ที่ความคิด

จีนเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยจากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อปี 2021 ชี้ว่าจากคนจีนทั้งประเทศที่มีจำนวนมากกว่า 1,400 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 264 ล้านคน หรือคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 18 แต่ปัญหาไม่ใช่เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุมาก แต่เป็นความคิดเห็นของผู้สูงอายุต่อการไปรับวัคซีนโควิด-19

เสียงสะท้อนจากผู้สูงอายุบางคนเลือกจะไม่ฉีดวัคซีน เพราะมองว่าไม่เห็นถึงความจำเป็น ขณะที่นักวิจารณ์บางคนแสดงความเห็นว่า ทัศนคติเช่นนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างครบถ้วน รอบด้านและมากพอ

ผู้สูงอายุในจีน-เข็มแรกยังไม่เคยได้ฉีด

จากตัวเลขของจำนวนผู้สูงอายุในจีนที่มีมากถึง 254 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ แม้แต่เข็มแรก มีมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรในกลุ่มนี้ ซึ่งในขณะที่ประเทศไทย มีการรณรงค์ให้ไปฉีดเข็มที่ 4 กันแล้ว 

วิเคราะห์รายละเอียดที่ลึกลงไป พบว่าในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ตัวเลขอัตราการฉีดวัคซีนยิ่งน่ากังวล เพราะคนที่ได้รับครบ 2 เข็มมียังไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรสูงอายุ ส่วนเข็มที่ 3 มีคนที่ได้รับไปไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

นี่ถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ หากผู้สูงอายุในกลุ่มนี้เกิดติดเชื้อขึ้นมา

จีนไม่อนุมัติวัคซีน mRNA ในประเทศ

ปัจจุบันทางการจีนยังไม่ได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนประเภท mRNA ในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าวัคซีนประเภทนี้มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการปกป้องชีวิตของกลุ่มเสี่ยงทั่วโลก

เมื่อตัวเลขการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โอกาสเสียชีวิตก็ย่อมมีมากขึ้น โดยจีนพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 3 คนอยู่ในกรุงปักกิ่งและเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 87 ปีขึ้นไป

ดังนั้น สื่อได้ว่าฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ กำลังจะกลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของแนวป้องกันโควิด-19 ของจีน เพราะจะถือเป็นฤดูหนาวแรก ที่จีนต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และเมื่อประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในตอนนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกนัก

สำนักข่าว Bloomberg คาดการณ์ว่า หากมีการปลดล็อคแนวป้องกันโควิด-19 ในจีน อาจจะส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้อง ICU สูงถึง 5.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขจำนวนนี้ มากกว่าความสามารถรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาล

ยกตัวอย่างในประเทศไทย ช่วงที่มีการระบาดหนักๆ เตียงใน รพ. ก็มีไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ศักยภาพของไทยนับเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย มีจำนวนเตียง ICU ประมาณ 10 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่จีนมีไม่ถึง 4 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน

ท่ามกลางกระแสการกดดันให้มีการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อาจมองได้ว่า ภาครัฐก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น ดังเช่น ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างในบางพื้นที่ เพื่อลดกระแสต่อต้าน

ในขณะที่ ล่าสุดหน่วยงานด้านสาธารณสุข ออกมาประกาศยกระดับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป โดยจะจัดตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเพื่อเร่งกระบวนการนี้ และงัดมาตรการจูงใจต่างๆ รวมไปถึงการรณรงค์ให้คนออกมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น

วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง