หากพูดถึงการปลูกกาแฟในประเทศไทย อาจต้องย้อนไปเมื่อ 48 ที่แล้ว เพราะก่อนกาแฟจะปลูกแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน มีการปลูกบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเป็นที่มาของการพัฒนาและขยายพื้นที่ปลูกในโครงการหลวง สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านบนพื้นที่สูง ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้
โดยนางฟองคำและสามี ยังดูแลต้นกาแฟที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จทอดพระเนตรเป็นอย่างดี
แม้ผู้เป็นพ่อ นายพะยู ตาโร ที่เคยรับเสด็จฯเมื่อปี 2517 ที่บ้านหนองหล่ม-ผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ จะเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีก่อน
โดยกาแฟต้นแรก บนดอยอินทนนท์ ที่เป็นหลักฐานว่า กาแฟสามารถปลูกได้บนพื้นที่สูงในประเทศไทย ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้คน สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของการส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ป่าบนดอยสูงในภาคเหนือ
นายบุญผิง ทาจีนะ นักวิชาการเกษตร สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ กล่าวว่า กาแฟต้นแรกบนดอยอินทนนท์ เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทอดพระเนตร และใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ ขยายไปทั่วดอยของโครงการหลวงอินทนนท์
ปัจจุบันดอยอินทนนท์ มีสถานีวิจัยทดลองปลูกกาแฟ สายพันธุ์อาราบิกา และส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ปลูกกาแฟแทนการปลูกพืชล้มลุก และส่งขายเมล็ดกาแฟให้กับโครงการหลวง
ขณะที่ นายตรี เจริญรัตน์ไพโรจน์ ชาวบ้านขุนยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น หลังจากที่โครงการหลวงได้ส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ
เช่นเดียวกับ นายศิระ ดำรงศฤงคาร ชาวบ้านขุนยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บอกว่า รู้สึกสบายในที่โครงการหลวงเข้ามา มีคนรับซื้อเมล็ดกาแฟ ขายหมดทุกปี
จากกาแฟต้นแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทอดพระเนตร ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกโครงการหลวงต่างๆ และเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกร นำไปปลูก เฉพาะภายในมูลนิธิโครงการหลวงมีการส่งเสริมการปลูกจำนวน 28 ยอดดอย
จากกาแฟต้นแรกบนดอยอินทนนท์เมื่อ 48 ปีก่อน มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ป่าต้นน้ำหลายแห่งยังคงความสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ และทำให้คนยังสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: