ฉลากอาหารกินได้! ญี่ปุ่นผลิตคุกกี้ฝัง QR Code ลดการใช้กระดาษ

Logo Thai PBS
ฉลากอาหารกินได้! ญี่ปุ่นผลิตคุกกี้ฝัง QR Code ลดการใช้กระดาษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากญี่ปุ่นผลิตคุกกี้ซ่อน QR Code โดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่อบ่งบอกข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร ลดการใช้ฉลากที่ทำจากกระดาษ

การใช้ QR Code ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แถมยังช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีอีกด้วยเพราะเพียงแค่สแกน QR Code ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลข่าวสาร การลงทะเบียนเข้างาน หรือแม้กระทั่งทำธุรกรรมทางธนาคารก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่ามีการนำ QR Code มาใช้แทบทุกวงการ และล่าสุดกับวงการอาหารที่พิมพ์ QR Code แบบ 3 มิติฝังไว้ในคุกกี้ เพื่อให้ข้อมูลโภชนาการด้านอาหาร

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยี interiqr มาจากคำว่า interior QR ซึ่งเป็นการพิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่อฝัง QR Code ไว้ภายในคุกกี้โดยไม่เปลี่ยนรูปร่างภายนอกของอาหารและไม่ส่งผลต่อรสชาติของอาหาร

"คุกกี้ 3 มิติ" หากมองจากภายนอกจะไม่ต่างจากคุกกี้ทั่วไป แต่ภายในคุกกี้จะซ่อน QR Code ที่พิมพ์แบบ 3 มิติเอาไว้ ทำให้เกิดช่องว่างบางส่วนตามรูปแบบของ QR Code ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยแสงปกติ

แต่หากใช้ไฟส่องจากด้านหลังของคุกกี้ก็จะสามารถเห็นเป็นรูปร่าง และสามารถใช้อุปกรณ์สมาร์ตโฟนสแกน QR Code นั้น เพื่อดูข้อมูลของอาหารได้ทั้งหมด เช่น ส่วนผสม วันที่ผลิต วันอายุ เหมือนในฉลากทั่วไป

โดย "คุกกี้ 3 มิติ" นี้ หากรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ข้อมูลนั้น หายไปในทันที โดยไม่ต้องหาวิธีทำลายทิ้งให้เปลืองพลังงานเหมือนฉลากข้อมูลที่เป็นกระดาษ

การพิมพ์อาหารแบบ 3 มิตินั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอาหาร เพื่อมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แปลกใหม่ ซึ่งนักวิจัยชี้ว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นในอุตสาหกรรมอาหาร

ต้องยอมรับว่าฉลากสินค้าเป็นแหล่งขยะขนาดใหญ่ทั่วโลก วิธีการพิมพ์ QR Code ซ่อนไว้ในอาหาร จึงมีความสำคัญต่อการลดขยะ เพราะข้อมูลจะถูกรวบรวมไว้ใน QR Code แทน และจะถูกทำลายทันทีที่อาหารถูกรับประทานเข้าไป ซึ่งหากวิธีการนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาขยะได้มากขึ้นเช่นกัน

ที่มาข้อมูล: alphagalileo, newatlas
ที่มาภาพ: alphagalileo
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง