The EXIT: เด็กไร้บ้านพัทยา กับปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ

สังคม
17 ม.ค. 66
16:20
650
Logo Thai PBS
The EXIT: เด็กไร้บ้านพัทยา กับปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังการฟื้นตัวของ “เมืองพัทยา” จากภาวะการท่องเที่ยวซบเซา เพราะการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ เริ่มมีนักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิงต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำพาปัญหา การล่วงละเมิดทางเพศและการใช้แรงงานเด็ก กลับมาด้วย

ข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม–ธันวาคม 2565 พบว่า ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา) จังหวัดชลบุรี ให้การช่วยเหลือเด็กชาย 4 คน ทั้งหมดอายุไม่ถึง 15 ปี จากกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยชาวต่างชาติ ที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว หลังพัทยาเริ่มกลับมาเปิดเมือง ช่วงต้นปี 2565

พลิศร โนจา ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา) เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 2–3 ปีก่อนหน้านี้ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ยังคงได้รับแจ้งอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ในช่วงนั้น ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่อาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่อาศัยอยู่คนเดียว หรือช่วงเวลาที่คนในครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบคดีที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้องทางสายเลือดอยู่บ่อยครั้ง พฤติกรรมกระทำความผิดส่วนใหญ่มักมีการบันทึกวิดีโอไว้ด้วย แต่หลังจากเมืองพัทยาเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามา ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในเมืองพัทยา พบเป็นชาวต่างชาติมากขึ้น

พลิศร โนจา ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา)

พลิศร โนจา ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา)

พลิศร โนจา ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา)

พฤติกรรมของผู้กระทำความผิด แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 ผู้กระทำความผิดติดต่อหานายหน้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้จัดหาเด็กตามความต้องการ จากนั้นเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อก่อเหตุ จากพฤติกรรมที่ผ่านมาพบว่า จะอาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกต และจะเดินทางออกนอกพื้นที่ทันที เพื่อหลบหนีความผิด รูปแบบที่ 2 เดินทางเข้ามาในประเทศและทำทีเป็นคนใจบุญ เป้าหมายเพื่อล่อลวงเด็กกลุ่มเปราะบาง ผู้กระทำความผิดกลุ่มนี้จะพยายามทำตัวเข้าหาเด็กด้วยการให้ของขวัญ ให้เงินเล่นเกมส์ รวมถึงเลี้ยงอาหาร เพื่อสร้างความไว้ใจ จากนั้นจะหลอกให้เด็กเดินทางไปที่บ้านเพื่อก่อเหตุล่วงละเมิด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือ พบว่า ร้อยละ 90 ผู้ก่อเหตุจะบันทึกวิดีโอไว้ และบางส่วนนำไปขายให้กับสมาชิกกลุ่มลับ


พลิศร โนจา ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา) บอกว่า ผู้ก่อเหตุร้อยละ 90 บันทึกวิดีโอ เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ หรือกลุ่มลับ ปัจจุบันติดตามจับได้ยาก เนื่องจากมีการเปิดบัญชีปลอมและไม่เปิดเผยใบหน้า 


ข้อมูลของ ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (บ้านครูจา) ช่วงปี 2561 ได้รับการประสานจากเครือข่ายสิทธิเด็กในประเทศออสเตรเลียว่า มีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เดินทางเข้ามาในพื้นที่เมืองพัทยามากกว่า 100 คน เส้นทางของคนกลุ่มนี้ มักเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ทำให้การติดตามตัวค่อนข้างลำบาก

ข้อมูลจากหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)

ข้อมูลจากหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)

ข้อมูลจากหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)

ปัจจุบันประเทศไทย มีหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) เพื่อติดตามจับและดำเนินคดีผู้กระทำความผิด จากสถิตินับตั้งแต่ช่วงปี 2559–2565 จะเห็นได้ว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2565 ที่มีสถิติคดีสูงถึง 482 คดี ผู้กระทำความผิด 524 คน แยก ออกเป็นชาวต่างชาติ 15 คน และชาวไทย 509 คน แบ่งตามความผิด ปี 2565 แยกออกเป็นคดีค้ามนุษย์ 41 คดี ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 164 คดี ครอบครองสื่อลามกเด็ก 265 คดี และคดีอื่นๆ 12 คดี

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย


ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ระบุว่า กฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ปัจจุบันยังไม่ทันสมัย เราจำเป็นต้องเพิ่มโทษข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อป้องกันก่อนเหตุจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดระหว่างการสนทนาที่มีการใช้วาจาล่วงละเมิดกับเด็ก

แม้จะมีคดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในสถานการณ์จริง เด็กที่ถูกล่วงละเมิดแต่ไม่เป็นคดียังมีมากเหมือนภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายที่เป็นเด็กจบชีวิตตัวเองไปแล้วหลายคน จากปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์ ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหาย ส่งภาพอนาจารของตัวเองให้กับผู้ก่อเหตุ และข่มขู่ให้กลัว เด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะบอกครอบครัว หรือคนใกล้ชิด

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมได้รับร่างกฎหมายเพิ่มเติมในคดีอาญา ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก อยู่ระหว่างการพิจารณา สาระสำคัญที่บรรจุไว้มีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ

  • Sexting หมายถึง กระบวนการที่บุคคลตั้งใจแชร์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างชัดแจ้ง หรือรูปภาพของตัวเองที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ รูปภาพหรือวิดีโออาจมีการเปลือยบางส่วนหรือทั้งหมด กิจกรรมกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ หรือกิจกรรมทางเพศ และมักจะแชร์กับแฟนหรือเพื่อนคนอื่นๆ พูดคุยรับส่งสื่อทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
  • Grooming หมายถึง สานสัมพันธ์ให้เหยื่อเชื่อใจเพื่อหวังละเมิดทางเพศ สร้างการ ติดต่อสื่อสารกับเด็กผ่านอินเทอร์เน็ตโดยมีจุดประสงค์เพื่อล่อลวง หลอกล่อ หรือกระตุ้นให้เด็กร่วมกิจกรรมทางเพศด้วย เช่น การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านเว็บ แคม หรือการผลิตสื่อเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือสื่อทางเพศที่บุคคลในสื่อสร้างขึ้นเอง
  • Sextortion หมายถึง ขู่กรรโชกออนไลน์ด้วยเรื่องเกี่ยวกับเพศ
  • Stalking หมายถึง ติดตามชีวิตของคนอื่นแล้วรุกล้ำคุกคามความเป็นส่วนตัว
  • Cyber Bullying หมายถึง เด็กถูกระรานทางไซเบอร์


ผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ช่วงปี 2560 ของศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จากกลุ่มตัวอย่าง เป็นเด็กอายุ 9-18 ปี จาก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 10,846 คน ผลสำรวจสำคัญ ได้แก่

  • เด็กร้อยละ 98 เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์และสิ่งดีๆมากมาย
  • เด็กร้อยละ 95 เชื่อมีภัยและความเสี่ยงหลายแบบบนอินเทอร์เน็ต
  • เด็กร้อยละ 70 เชื่อว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์
  • เด็กร้อยละ 61 เชื่อว่าตัวเองจะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • เด็กร้อยละ 75 เชื่อว่าเมื่อประสบภัยออนไลน์แล้วสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตัวเอง
  • เด็กร้อยละ 78 เชื่อว่าสามารถช่วยเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้

ขณะที่พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

  • เด็ก 7 ใน 10 คน ยอมรับว่า เคยเห็นสื่อลามกในอินเทอร์เน็ต
  • เด็กที่เคยเห็นสื่อลามกออนไลน์ 1 ใน 5 คน ยอมรับว่าเคยเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก
  • เด็ก 1 ใน 5 คน เคยพูดคุย หรือรับ-ส่ง เนื้อหาการกระทำทางเพศกับเพื่อนออนไลน์
  • ร้อยละ 71 ถึง ร้อยละ 94 ของกลุ่มตัวอย่าง ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Line ในการติดต่อสื่อสาร นัดพบหรือเข้าถึงสื่อไม่เหมาะสมต่างๆ

กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ฝากถึงผู้ปกครองให้ข้อมูลแก่เด็กในความดูแล รู้จักปกปิดข้อมูลส่วนตัวและปกปิดอวัยวะที่ไม่ควรเปิดเผยแก่ผู้อื่น ตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เพื่อป้องกันการตกเป็นผู้เสียหาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง