ธปท.สั่งแบงก์ปรับระบบยืนยันตัวตน หวังสกัดบัญชีม้า

เศรษฐกิจ
13 ก.พ. 66
07:07
2,890
Logo Thai PBS
ธปท.สั่งแบงก์ปรับระบบยืนยันตัวตน หวังสกัดบัญชีม้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ธปท. สั่งธนาคารปรับระบบยืนยันตัวด้วย Biometrics บนโมบายแอปพลิเคชัน กรณีโอนวงเงินสูง หรือ มีความถี่ หวังสกัดบัญชีม้า พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงิน อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้าระหว่างกัน โดยนางสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจาก ร่างพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยได้ โดยไม่ขัดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ธปท.ยังมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติม โดยจะให้ธนาคารเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนด้วย Biometric comparison บน Mobile banking เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การโอนเงินจำนวนมาก ทั้งในแง่มูลค่า และความถี่ รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน

โดยกำหนดตามพฤติกรรมหรือระดับความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotlines) อย่างเพียงพอ ตลอด 24 ชม.ให้ลูกค้าสามารถแจ้งเหตุหลอกลวงได้โดยตรง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีสถิติการตรวจจับบัญชีม้าเพิ่มขึ้น จากการที่ตำรวจและสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการตรวจจับ และกวาดล้างบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท.ระบุว่า ได้กำชับให้สถาบันการเงินปรับปรุงและพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยให้เท่าทันวิธีการหลอกหลวงรูปแบบใหม่ ๆ ต่อเนื่อง

โดยกำหนดให้สถาบันการเงินยกระดับการจัดการภัยหลอกลวง และ ภัยทุจริตเป็นความเสี่ยงระดับองค์กร และต้องกำหนดแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนโดยเร็ว

เช่น กำหนดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน Mobile banking หรือบัญชีกระเป๋า e-Wallet ของแต่ละผู้ให้บริการทางการเงิน และให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำบัญชีผู้ใช้งาน Mobile banking หรือกระเป๋า e-Wallet ไปใช้ในทางไม่สุจริต

มีกระบวนการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเปิดบัญชี e-Money โดยตรวจสอบให้ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือบัญชี e-Money ที่ใช้โอนเงินสอดคล้องตรงกันกับชื่อเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนี้ ให้งดเว้นแนบลิงก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) อีเมล และ โซเชียลมีเดีย ที่เป็นการขอข้อมูลในการยืนยันตัวตนและข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสผ่านใช้ครั้งเดียว (OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชนชน วันเดือนปีเกิด เป็นต้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง