ทลายโกดังเครื่องสำอาง-ยาสีฟัน-กระเป๋าปลอม มูลค่ากว่า 14 ล้าน

อาชญากรรม
13 ก.พ. 66
12:31
2,915
Logo Thai PBS
ทลายโกดังเครื่องสำอาง-ยาสีฟัน-กระเป๋าปลอม มูลค่ากว่า 14 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจ ปคบ. ร่วมกับ อย. บุกโกดังขนาดใหญ่จำหน่ายเครื่องสำอางปลอมและยาสีฟันปลอมยี่ห้อดัง พร้อมจับกุมชาวจีนผู้ดูแลโกดังสินค้า 1 คน พบเงินหมุนเวียนกว่า 14 ล้านบาท

วันนี้ (13 ก.พ.2566) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. นำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนงและศาลจังหวัดสมุทรปราการ เข้าตรวจค้น 2 จุด

ในพื้นที่เขตประเวศ กทม. พบว่า ใช้เป็นสถานที่เก็บและแพ็กสินค้า และ จ.สมุทรปราการ 1 จุด เป็นโกดังสินค้า ซึ่งต้องสงสัยว่า อาจผิดกฎหมาย จึงทำการตรวจยึดและอายัดผลิตภัณฑ์ ของกลางกว่า 67,430 ชิ้น 70 รายการ คิดรวมมูลค่าของกลางกว่า 14 ล้านบาท

จากการตรวจค้นพบผู้ต้องหา 1 คน คือ สัญชาติจีนนายจง (Mr.Zhong) พบว่าทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ตำรวจจึงแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอางและ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฐาน ขายเครื่องสำอางปลอม และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ รับแค่ว่ามีหน้าที่แพ็กสินค้าและส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ โดยมีนายทุนจีนเป็นคนสั่งการ และทำมาแล้วกว่า 3 เดือน

ตำรวจตรวจยึดของกลางเป็น ยาสีฟันปลอมยี่ห้อดัง 36 หลอด, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม 45 รายการ 37 ยี่ห้อ, ผลิตภัณฑ์ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร 14 รายการ, ผลิตภัณฑ์ ทำความผิด พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ 1 รายการ, ผลิตภัณฑ์ตามความผิด พ.ร.บ.ยา 1 รายการ, ผลิตภัณฑ์ตามความผิด พ.ร.บ. สมุนไพร 2 รายการ, และ กระเป๋าแบรนด์เนม 67 ใบ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. เปิดเผยว่า ตำรวจได้รับการร้องเรียนมาจากผู้ผลิตบางราย ว่า โดนปลอม ผลิตภัณฑ์ เกิดความเสียหายและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงสืบสวนสอบสวน นำไปสู่การขอหมายค้นจากศาลตรวจค้น 3 จุดต้องสงสัยดังกล่าว

จุดแรก พบว่ามีคนจีนเป็นผู้ครอบครองที่อยู่อาศัย ผู้ต้องหาซัดทอดต่อไปยังกลุ่มทุนจีน ว่าเป็นผู้ส่งสินค้ามาให้จากประเทศจีน โดยจ้างให้ตัวเองกับพวกแพ็กสินค้า จำหน่ายผ่านร้านแพลตฟอร์มออนไลน์ แห่งหนึ่ง โดยมีร้านค้า กว่า 18 ร้านค้า

ด้านเภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า แท้หรือปลอมให้ตั้งข้อสังเกตที่แพ็กหีบห่อ และภาษาที่เขียนกำกับบนผลิตภัณฑ์ และ พิจารณาว่าสินค้านั้นราคาถูกเกินไปไหม ถ้าถูกเกินให้ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า ไม่ใช่ของแท้

นอกจากนี้ จากการตรวจยึด ยังพบเครื่องมือแพทย์ถุงยางปลอมที่ไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคติดต่อไม่ได้อีกด้วย ขอให้ผู้บริโภคซื้อยาผ่านร้านขายยาเท่านั้น 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง