"หมอหม่อง" ยกไทยเมืองหลวงนกเงือก ห่วงนกชนหินถูกล่า

สิ่งแวดล้อม
13 ก.พ. 66
13:29
310
Logo Thai PBS
"หมอหม่อง" ยกไทยเมืองหลวงนกเงือก ห่วงนกชนหินถูกล่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ห่วง "นกชนหิน" ถูกล่าไปทำเครื่องประดับส่งออกจีน โดยเฉพาะนกในอินโดนีเซีย ลดลง 90% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกไทยเป็น "เมืองหลวงของนกเงือก" พร้อมดึงพรานกลับใจเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ร่วมอนุรักษ์-ปกป้องรังนกเงือก

วันนี้ (13 ก.พ.2566) ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ (หมอหม่อง) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ถึงสถานกาณณ์นกเงือก เนื่องใน "วันรักนกเงือก" ว่า ในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็น "เมืองหลวงของนกเงือก" เพราะพบถึง 13 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสถานภาพแตกต่างกัน

ห่วง "นกชนหิน" เสี่ยงสูญพันธุ์

แต่นกเงือกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนกชนหิน สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ขณะนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วง มีอุตสาหกรรมและการล่านกในบอร์เนียว สุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และลามมาถึงไทย นำโหนก เรียกว่า "งาเลือด" ไปทำเครื่องประดับ แกะสลัก เครื่องรางของขลัง เพื่อส่งออกไปจีน อย่างไรก็ตาม ในไทยยังพบการล่าน้อยกว่า 2 ประเทศดังกล่าว อาจเพราะมีประชากรน้อย หรือเพียงหลักสิบ จึงไม่ได้เป็นเป้าหมาย แต่ก็พบนกชนิดนี้ยากขึ้น

สถานภาพน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะอินโดฯ ประชากรนกชนหินลดลง 90% ภายในเวลาไม่กี่ปี

"นกชนหิน" มีโหนกตัน เสียงร้องคล้ายคนหัวเราะ และหางยาว ล่าสุดถูกประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย เพื่อปกป้องคุ้มครองขั้นสูงสุด โดยเฉพาะถิ่นอาศัยของนกในพื้นที่ป่าทางภาคใต้

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวว่า นกเงือกที่น่าเป็นห่วงอีก 2 ชนิด คือ นกเงือกปากย่น พบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา และนกเงือกดำ พบที่พรุโต๊ะแดง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และสันกาลาคีรี

อยากให้ไทยตระหนักเรื่องนี้ เพราะเป็นมรดกทางธรรมชาติที่มีค่ามาก เรียกว่าไทยเป็นเมืองหลวงของนกเงือก

เปลี่ยน "พราน" เป็นผู้ช่วยวิจัย

นอกจากนี้ ไทยยังมีการบุกเบิกศึกษานกเงือก โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ ซึ่งทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้งานอนุรักษ์เป็นรูปธรรม และเปลี่ยนพรานที่เคยล่าลูกนกไปขายมาเป็นผู้ช่วยวิจัย เก็บข้อมูล รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน ในโครงการอุปถัมภ์รังนกเงือก ให้ผู้สนใจเป็นพ่อแม่ของแต่ละรัง บริจาคเงินสนับสนุนชาวบ้านในการเก็บข้อมูลว่าพ่อแม่นกเข้ารังเมื่อใด ลูกนกออกจากรังเมื่อใด กินอะไรบ้าง เพื่อความสร้างยั่งยืนให้กับชาวบ้านในการร่วมดูแลอนุรักษ์และปกป้องรังนกเงือก

กรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กล่าวว่า ขณะนี้เยาวชนใน จ.นราธิวาส และพื้นที่โดยรอบ ให้ความตระหนักในงานอนุรักษ์ และรู้สึกหวงแหนนกเงือกมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการปลูกป่า ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์

ถ้านกเงือกหมดไป สุขภาพของป่าก็กระทบไปหมด ไม่มีตัวกระจายพันธุ์และรักษาสมดุลธรรมชาติ

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า "นกเงือก" ไม่เพียงเป็นสัตว์ที่ถูกเลือกมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์ แต่ด้วยความสวยงาม เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณและมีขนาดใหญ่ ถือกำเนิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี และมีพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุกและนำเมล็ดทิ้งไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ นกเงือกจึงมีบทบาทสำคัญในการระบบนิเวศป่า

จากการวิจัย พบว่า นกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้และด้วยความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์

นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ซึ่งในไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด และหลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย

ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ.ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง