AI ตรวจสอบคุณภาพข้าวทดแทนแรงงานคน

Logo Thai PBS
AI ตรวจสอบคุณภาพข้าวทดแทนแรงงานคน
การตรวจคุณภาพข้าวตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการส่งออก ที่ต้องใช้ทักษะของผู้ตรวจสอบที่เริ่มหายากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

การคัดแยกเมล็ดข้าวปลอมปนภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังจะเข้ามาทดแทนแรงงานคนที่ทำการตรวจสอบด้วยตาเปล่า ซึ่งมีปัจจัยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบคุณภาพข้าว บริษัทเอกชน จึงเกิดไอเดียในการนำเทคโนโลยี AI แก้ไขจุดบกพร่องในการตรวจสอบ ลดโอกาสผิดพลาด เพิ่มความเสถียรและแม่นยำ

ปัจจุบันระบบ AI สามารถทำการตรวจคุณภาพข้าวสาร และตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือก ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถรู้ได้ว่า ข้าวที่นำมาตรวจนั้นสายพันธุ์อะไร มีการปลอมปนหรือไม่ ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้งานตั้งแต่ระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสี และผู้ส่งออกข้าว

ดวงฤทัย นิพนธ์วัฒนกุล ผู้จัดการ บ.สยามโกลเด้นไรซ์ จำกัด ระบุว่า เครื่องจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนประสิทธิภาพสามารถช่วยได้มากถึง 10 เท่า คล้ายเครื่องสแกน และมีข้อมูลต่าง ๆ ของเมล็ดพันธุ์เก็บไว้แล้วด้วย อาจบอกได้ว่า คนใช้เวลา 30 นาที แต่เครื่องใช้เวลาไม่กี่นาที ซึ่งเป็นประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายยังไม่ได้เก็บข้อมูลไปถึงตรงนั้น 

ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี มีผู้ใช้งาน มากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ ทั้งการรับซื้อรับขาย หรือในกระบวนการปรับปรุง ผลิต ไปจนถึงแพ็กถุงเพื่อขายในประเทศหรือส่งออก ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบไปมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวไปมากถึง 6 ล้านตัน

ขณะที่ภูวินทร์ คงสวัสดิ์  ปธ.กก.บห.และผู้ร่วมก่อตั้ง บ.อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จํากัด ระบุว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นลูกค้าตอนนี้มีเพียง 2 กลุ่ม แต่ในอนาคตมีการทำราคาให้ถูกลงเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนเข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งต้องการสร้างแบรนด์เพื่อส่งข้าวออกต่างประเทศ ซึ่งบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพข้าวนั้นยังหายาก ดังนั้น เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าวนี้จะมาช่วยเหลือในจุดนี้ด้วย

นอกจากการตรวจสอบคุณภาพข้าวแล้ว ผู้ผลิต ยังขยายไปยังพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต กาแฟ เป็นต้น รวมถึง AI ในการตรวจสอบเชิงลึกแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยสู่ระบบที่ทำให้ทั้งห่วงโซ่อุปทานอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง