มาตรการควบคุมฟรีไดฟ์ ข้อจำกัดโลกใต้น้ำ

ภูมิภาค
11 มี.ค. 66
11:07
494
Logo Thai PBS
มาตรการควบคุมฟรีไดฟ์ ข้อจำกัดโลกใต้น้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในภาคใต้ เริ่มวางมาตรการควบคุมดูแลกิจกรรมฟรีไดฟ์ เพื่อความปลอดภัยและหวังดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ แต่กลุ่มฟรีไดฟ์บางส่วนมองว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปอาจกลายเป็นข้อจำกัดโลกใต้น้ำของนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำ

โลกใต้น้ำที่เต็มไปด้วยสีสันของปะการังและปลาสวยงามหลายชนิดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของไทย เป็นโลกที่ดึงดูดนักดำน้ำ และผู้ที่ชื่นชอบโลกใต้ทะเลที่ทั้งอิสระและเงียบสงบ ซึ่งช่วง 4-5 ปีมานี้ อีกกิจกรรมทางน้ำที่กำลังเป็นที่นิยม เรียกว่า ฟรีไดฟ์วิง หรือการดำน้ำตัวเปล่า ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นอย่างหน้ากาก ฟินที่มีลวดลายสวยงาม และชุดว่ายน้ำ เท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝน จึงถือเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่มีการแข่งขันระดับโลก และในต่างประเทศนิยมการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์มาไม่น้อยกว่า 10 ปี

นายวรุตม์ วงศ์ช่วย ครูสอนฟรีไดฟ์ กล่าวว่า ฟรีไดฟ์ ต้องใช้ร่างกาย ต้องฝึกฝน เพื่อพัฒนาตัวเอง จึงเรียกว่ากีฬา นักดำน้ำต้องฝึกกลั้นหายใจให้ได้นานขึ้น ต้องดำน้ำให้ลึกขึ้น ทั้งหมดต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกายและฝึกฝนเป็นประจำ ไม่เหมือนการดำน้ำแบบผิวน้ำ หรือดำน้ำลึกสกูบาที่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ หากเรียนรู้การใช้ได้ ก็สามารถดำน้ำได้แล้ว

ส่วนประเทศไทย มีหลักสูตรการเรียนการสอนฟรีไดฟ์วิ่ง ที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ 4-5 สถาบัน ผู้เรียนจะต้องผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎี เรียนรู้เกี่ยวกับสรีระวิทยา รวมทั้งข้อปฏิบัติขณะฟรีไดฟ์วิ่ง เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะฝึกปฏิบัติ ทั้งการกลั้นหายใจ การลอยตัว และการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินหากผ่านการฝึกอบรมและสอบปฏิบัติได้ตามหลักสูตร โดยผ่านการดำน้ำลึกระดับ 10 เมตร จะได้รับบัตรรับรองการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ขั้นต้น

ล่าสุด อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในภาคใต้ วางมาตรการควบคุมดูแลกิจกรรมฟรีไดฟ์ อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีการออกระเบียบข้อปฏิบัติหลายข้อ โดยระบุว่า ต้องการวางมาตรการขึ้น เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยกำหนดกฎเกณ์เกี่ยวกับกิจกรรมฟรีไดฟ์ จึงต้องป้องกันไว้ก่อน แต่ระเบียบที่ออกมาเบื้องต้น ทำให้กลุ่มนักดำน้ำฟรีไดฟ์มองว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการดำน้ำตัวเปล่าหรือฟรีไดฟ์มากพอ ทำให้หลายข้อยังตึงหรือเข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะการจำกัดโซนฟรีไดฟ์ ที่อนุญาตเฉพาะพื้นที่มีความลึกกว่า 10 เมตร

ในฐานะครูสอนฟรีไดฟ์ บอกเล่าว่า ระเบียบข้อนี้ กลายเป็นข้อจำกัด สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ เพราะส่วนใหญ่ สามารถดำน้ำลึกได้มากที่สุดเพียง 5 เมตร หากกำหนดโซน หมายถึงต้องถูกปิดกั้นโอกาส และหากไม่มีโอกาสฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมจริงหรือในทะเล ก็เท่ากับไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนหรือพัฒนาทักษะของตัวเองได้

นอกจากนี้ ยังมีระเบียบที่ระบุว่า อนุญาตเฉพาะผู้ที่มีใบรับรองผ่านการสอบดำน้ำฟรีไดฟ์แล้วเท่านั้น ก็ยังเป็นข้อจำกัด จึงเสนอให้ทางอุทยานฯ คัดกรองนักดำน้ำจากการผ่านการเรียนหลักสูตรต่างๆ แทน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากระบบออนไลน์ได้ไม่ยาก

จากประสบการณ์ที่สอนและสอบนักดำน้ำที่ผ่านและได้ใบรับรองมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 ไม่ผ่านการสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ทุกคนจะได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำที่ถูกต้อง และปลอดภัย รวมทั้งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมทางน้ำทุกชนิดย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น มันจึงเป็นเรื่องของจิตสำนึกล้วน ๆ

ผมคิดว่าใบรับรองไม่ใช่สิ่งที่การันตีหรือเอามาเป็นตัวชี้วัดได้ แต่กลับเป็นการจำกัดโอกาสของนักดำน้ำมือใหม่ และต้องการให้นำความคิดเห็นของกลุ่มนักดำน้ำฟรีไดฟ์เข้าพิจารณาก่อนประกาศเป็นระเบียบในอนาคต

อย่างก็ตาม ขณะนี้อุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับกิจกรรมฟรีไดฟ์ที่แตกต่างกันออกไป ตามดุลพินิจของหัวหน้าอุทยานฯ ขณะที่บางแห่งอย่างอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ประกาศงดกิจกรรมฟรีไดฟ์ในพื้นที่ จนกว่าจะมีประกาศมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ระบุว่า อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นและพิจารณาส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง