สอท.ทลาย 2 ผู้ค้ารายใหญ่ ยึดบุหรี่ไฟฟ้ามูลค่ารวม 80 ล้าน

อาชญากรรม
11 มี.ค. 66
15:10
684
Logo Thai PBS
สอท.ทลาย 2 ผู้ค้ารายใหญ่ ยึดบุหรี่ไฟฟ้ามูลค่ารวม 80 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สอท.กวาดล้างผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า 2 รายใหญ่ พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ หลายรายการ มูลค่ารวม 80 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า-จำหน่าย-ครอบครอง

วันนี้ (11 มี.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กวาดล้างตรวจยึดจากผู้ค้ารายใหญ่จำนวน 2 ราย ในพื้นที่ จ.นครปฐม และกรุงเทพมหานคร โดยตรวจยึดน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 80,000 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 20,000 ชิ้น และอุปกรณ์ส่วนประกอบอื่น ๆ อีกหลายรายการ

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีหรือ สอท.1 เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นจับกุมทั้ง 2 ราย สืบเนื่องจากพบการโพสต์จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อขยายผลก็พบผู้จำหน่ายค้าส่ง ทั้ง 2 เครือข่าย ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ผลการตรวจยึดจองกลางรวมมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท พร้อมยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าผู้ครอบครองมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งในประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมอยู่

สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามไว้ตั้งแต่การนำเข้าโดยการนำเข้า มีกฎหมายควบคุม ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ให้กรมศุลกากรตรวจจับ หากผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการจำหน่ายผิดกฎหมายตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนขายบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) มาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้นำเข้าและผู้ขายเป็นคนเดียวกัน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมระบุว่า พบสารเคมีที่เป็นอันตรายหลายชนิด รวมถึงการสูบร่วมกันอาจทำให้เกิดโรคติดต่อ และการสูบในที่สาธารณะ ก็มีความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

นอกจากนี้ รวมไปถึงการครอบครอง ก็มีความผิด ตาม กฎหมายศุลกากร พ.ศ.2560 ตามมาตรา 246 ว่าด้วย ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า การผลิต การจำหน่าย การครอบครอง และการสูบในที่สาธารณะ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายชัดเจน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง